อาหารประจำธาตุ


ตามตำราของการแพทย์แผนไทย หรือการแพทย์พื้นบ้านแผนโบราณ ผู้ที่เป็นหมอ หรือกลุ่มผู้ที่สนใจดูแลสุขภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้เรื่อง ธาตุ ว่าในตัวของคนเราทุก ๆ คนประกอบด้วย ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ นอกจากคนเราจะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อดูแลสุขภาพแล้ว ควรทานอาหาร ให้ถูกกับธาตุและถูกกับฤดูกาลด้วย จึงจะเป็นการปรับสมดุลให้แก่ร่างกาย เราเรียกว่า “การกินอาหารตามธาตุ หรือ การกินอาหารเป็นยา”

ธาตุดิน (เกิดเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน)

ธาตุดิน มีที่ตั้ง (กำลัง) ของธาตุ ๒๐ อย่าง เช่น เกศา โลมา นะขา ทันตา ฯลฯ การดูแลรักษาสุขภาพไม่ให้ธาตุกำเริบ หย่อน หรือพิการ ควรทานอาหารตามธาตุให้ถูกต้อง

ธาตุดินเจ้าเรือน

จะมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวค่อนข้างคล้ำ ผมดกดำ เสียงดังฟังชัด ข้อกระดูกแข็งแรง กระดูกใหญ่ น้ำหนักตัวมาก ล่ำสัน อวัยวะสมบูรณ์

อาหารประจำธาตุดิน

ควรรับประทาน ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีรส ฝาด หวาน มัน เค็ม เช่น ผลไม้ได้แก่ มังคุด ฝรั่งดิบ ฟักทอง เผือก ถั่วต่างๆ เงาะ น้ำนม น้ำอ้อย เกลือ ผักต่างๆ ได้แก่ ยอดมะม่วง ขนุน กระถิน ดอกแค ผักเชียงดา มะเขือ ฯลฯ อาหารที่แนะนำ ควรทานอาหารจำพวกผักและผลไม้ เช่น น้ำพริกผักต้ม อาหารประเภทแกงเลียง ต้มจืดต่างๆ สะตอผัดกุ้ง สมอไทย แกงบวดฟักทอง น้ำอ้อย นมถั่วเหลือง น้ำส้ม น้ำฝรั่งเป็นต้น

ธาตุน้ำ (เกิดเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน)

ธาตุน้ำ มีที่ตั้ง (กำลัง) ของธาตุ ๑๒ อย่าง เช่น ปิตตัง เสมหังปุพโพ โลหิตตัง ฯลฯ

ธาตุน้ำเจ้าเรือน

จะมีรูปร่างสมบูรณ์ อวัยวะสมบูรณ์ สมส่วน ผิวพรรณสดใสเต่งตึง ตาหวาน น้ำในตามาก ท่าทางเดินมั่นคง ผมดกดำงาม กินช้า ทำอะไรชักช้า ทนหิว ทนร้อน ทนเย็นได้ดี เสียงโปร่ง มีลูกดกหรือมีความรู้สึกทางเพศดี แต่มักเฉื่อยและค่อนข้างเกียจคร้าน

อาหารประจำธาตุน้ำ

ควรรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีรสเปรี้ยว ตัวอย่างได้แก่ มะกรูด มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขือเทศ มะกอก มะดัน ฯลฯ อาหารที่แนะนำ เช่น แกงส้มดอกแค กระท้อนลอยแก้ว มะม่วงน้ำปลาหวาน น้ำมะนาว น้ำใบบัวบก น้ำมะเขือเทศ เป็นต้น

ธาตุลม (เกิดเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน)

ธาตุลม มีที่ตั้ง (กำลัง) ของธาตุ ๖ อย่าง เช่น อุทธังคมาวาตา อโคมาวาตา ฯลฯ

ธาตุลมเจ้าเรือน

จะมีผิวหนังหยาบแห้ง รูปร่างโปร่ง ผอม ผมบาง ข้อกระดูกมักลั่นเมื่อเคลื่อนไหว ขี้อิจฉา ขี้ขลาด รักง่ายหน่ายเร็ว ทนหนาวไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ ช่างพูด เสียงต่ำ ออกเสียงไม่ชัดเจน มีลูกไม่ดก หรือความรู้สึกทางเพศไม่ค่อยดี

อาหารประจำธาตุลม

ควรรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีรสเผ็ดร้อน ตัวอย่างได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย โหระพา กะเพรา ฯลฯ อาหารที่แนะนำควรเน้นอาหารจำพวกแกงป่า ผักสด ผลไม้ต่างๆ อาหารที่ไม่มีกะทิ และควรเน้นจำพวกเครื่องเทศ เช่น ต้มยำสมุนไพร แกงป่าปลาดุกใส่กะทือ ต้มยำกุ้ง บัวลอยน้ำขิง เต้าฮวย น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำข่า น้ำกานพลู เป็นต้น

ธาตุไฟ (เกิดเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม)

ธาตุไฟ มีที่ตั้ง (กำลัง) ของธาตุ ๔ อย่าง เช่น สันตับปัคคี ปริทัยหัคคี ฯลฯ

ธาตุไฟเจ้าเรือน

มักขี้ร้อน ทนร้อนไม่ค่อยได้ หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว มักหัวล้าน หน้าย่น ผม ขน และหนวดอ่อนนิ่ม ไม่ค่อยอดทน ใจร้อน ข้อกระดูกหลวม มีกลิ่นปาก กลิ่นตัวแรง ความต้องการทางเพศปานกลาง

อาหารประจำธาตุไฟ

ควรรับประทานผัก ผลไม้ และอาหารที่มีรสขม เย็น จืด ตัวอย่าง ได้แก่ ผักบุ้ง ตำลึง แตงโม บัวบก ฟักข้าว สะเดา มะระ ขี้เหล็ก ฯลฯ อาหารที่แนะนำ เช่น ผัดผักบุ้ง แกงจืดตำลึง ผัดสายบัวใส่พริก ยำผักกระเฉด ผักหนามผัดน้ำมันหอย ซ่าหริ่ม น้ำแตงโมปั่น น้ำใบเตย น้ำเก๊กฮวย เป็นต้น