จำนวน 41 รายการ

แกงขนุน

หมวดแกง
แกงขนุน เป็นแกงที่ชาวล้านนานิยมกันทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง วันที่ถัดจากวันพญาวัน ถือเป็น “วันปากปี” คือเริ่มต้นปีใหม่วันแรก ชาวล้านนาจะนิยมทำแกงขนุนรับประทานกัน นัยว่าเป็นการเอาเคล็ดให้มีแต่บุญวาสนาหนุนส่งให้ได้พบแต่สิ่งดี ๆ ไปตลอดทั้งปี

แกงข้าวเบอะ

หมวดแกง
เป็นแกงประจำเผ่ากะเหรี่ยง นิยมทำรับประทานกันมากในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีชนเผ่ากะเหรี่ยงมาอาศัยอยู่จำนวนมาก แกงนี้เรียกอีกอย่างว่า " โจ๊กกะเหรี่ยง " และเป็นอาหารหลัก มีโภชนาการทางอาหารสูง เพราะวัตถุดิบได้มาจากแหล่งธรรมชาติ ให้พลังงาน โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ส่วนประกอบหลัก คือ กระดูกหมู ข้าวสาร ตะไคร้ พริก กระเทียม เกลือ กะปิ หน่อไม้

แกงตูนใส่ปลา

หมวดแกง
แกงตูน มีผักที่เรียกว่า “ตูน” หรือ “ทูน” เป็นส่วนประกอบหลัก ตูนเป็นผักตระกูลเดียวกับ บอน แต่ไม่มียางที่ทำให้คันหรือเป็นพิษ เวลาแกงจะต้องปอกเปลือกที่เป็นเยื่อเหนียวทิ้งเสียก่อน จากนั้นใช้มือเด็ดตูนเป็นท่อนๆ หรือชิ้นขนาดเท่าพอคำ แกงตูนมักจะใส่เนื้อปลาดุกหรือปลาช่อนตัดเป็นชิ้น ๆ พอประมาณ ส่วนผสมของเครื่องแกงประกอบด้วย พริกหนุ่ม พริกขี้หนู กระเทียม ปลาร้า กะปิ ขมิ้น โดยมีเครื่องปรุงเป็นมะกรูดหรือมะนาว ให้มีรสชาติออกเปรี้ยว

แกงบวบหอม (บวบกลม) ใส่ปลาจี่

หมวดแกง
บวบเป็นพืชไม้เถาที่สามารถปลูกใกล้ต้นไม้ใหญ่ให้เลื้อยขึ้นไป เวลาต้องการนำมาแกงจะใช้ไม้สอยลงมา สามารถแกงลูกอ่อนๆ ไปจนถึงแก่ปานกลางหากแก่จัดจะมีใยเหนียว ทานยาก

แกงบ่าค้อนก้อม

หมวดแกง
แกงบ่าค้อนก้อมหรือแกงมะรุม ใช้ฝักมะรุม หรือบ่าค้อนก้อมเป็นผักแกง นิยมแกงกับปลาแห้งหรือกระดูกหมู มีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงผักเสี้ยว (ยอดชงโค) แกงผักหวาน แกงผักเซียงดา ใส่ผักชะอม เพื่อให้แกงหอม รสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น บางตำรา ใส่มะเขือเทศลูกเล็ก แคบหมู ส่วนผสม ฝักมะรุม ปลาแห้ง ผักชะอม เครื่องแกงมี พริกชี้ฟ้าแห้ง กระเทียม หอมแดง ข่าซอย กะปิ ปลาร้าต้มสุก

แกงบ่าถั่วใส่เห็ดใส่ปลาแห้ง

หมวดแกง
แกงบ่าถั่วใส่เห็ด ใส่ปลาแห้ง เป็นแกงพื้นบ้านของทางภาคเหนือที่นิยมทำกันมาก เพราะเป็นผักที่หาง่ายตามพื้นบ้าน หรือแต่ละบ้านจะปลูกไว้กินเองตามบ้าน เครื่องปรุงประกอบด้วย ถั่วฝักยาว เห็ดหูหนู หรือเห็ดสด ปลาแห้ง ข่า นิยมใช้ปลาช่อน (ปลาหลิม) พริกขี้หนู หรือพริกชี้ฟ้า กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า เกลือ

แกงบ่านอย-ยอดฟักแก้วใส่เห็ดฟาง

หมวดแกง
บ่านอย คือ บวบเหลี่ยม ส่วนยอดฟักแก้ว คือ ยอดฟักทอง แกงชนิดนี้คล้ายแกงเลียงของภาคกลาง แต่ของล้านนาไม่ใส่กุ้ง แต่จะใส่เห็ดฟางแทน

แกงบ่าน้ำ (น้ำเต้า)

หมวดแกง
แกงน้ำเต้า ก็ทำวิธีเดียวกับแกงบ่านอยก็ได้ หรือจะใส่กระดูกหมูแทนเห็ดฟางก็อร่อยเหมือนกัน

แกงบ่าแต๋งใส่จิ๊นควาย

หมวดแกง
ส่วนผสม บ่าแต๋ง หรือแตง ใช้แตงไทย ล้านนาเรียก บ่าแต๋งลาย ลูกอ่อนถึงกลาง เนื้อควาย ต้นหอม ผักชี เครื่องแกงใช้ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ พริกไทยเม็ด เกลือ

แกงผักกาดหน้อยใส่ถั่วฝักยาว/ ใส่ผักชีลาว

หมวดแกง
แกงผักกาดหน้อย หมายถึง ผักกาดอ่อนที่ใบขนาด ๒-๔ เซนติเมตร ใส่ถั่วฝักยาว ใส่ผักชีลาว หรือใส่ผักโขมแดงอ่อน ใส่ผักขี้หูดอย่างละนิดอย่างละหน่อยบางท้องถิ่นเรียกแกงชนิดนี้ว่า “แกงผักอะหยิอะเหยาะ” ซึ่งหมายถึง แกงผักหลากหลายชนิด (เฉพาะผักที่กล่าวมาอย่างละนิดอย่างละหน่อยนั่นเอง) แกงชนิดนี้อาจใส่ถั่วเน่า และปลาแห้ง หรือหัวปลาชะโดแห้งด้วยก็ได้

แกงผักกาดใส่ไก่

หมวดแกง
ส่วนผสม ผักกาดเขียว (ผักกวางตุ้ง) หรือ ล้านนาเรียก ผักกาดจ้อน คำว่า จ้อน หมายถึง กำลังผลิดอก เนื้อไก่ บ่าแขว่น (กำจัด) เครื่องแกงมีพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า

แกงผักขี้หูด (ผักเปิ๊ก) ใส่ปลาแห้ง

หมวดแกง
ผักขี้หูด หรือในเชียงใหม่เรียกว่าผักเปิ๊ก เป็นผักที่มีรสชาติเผ็ดนิดๆ ใช้กินสดแกล้มกับลาบ หรือยำต่างๆ ที่มีรสหวานอร่อย แต่จะเอามาทำแกงใส่ปลาแห้ง ใส่เห็ดลมอ่อนด้วยยิ่งอร่อย

แกงผักบุ้งใส่ปลา

หมวดแกง
แกงผักบุ้งใส่ปลา เป็นอาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน โดยเฉพาะน้ำแกงที่มีรสเปรี้ยวนำ หากได้ผักบุ้งนายอดเล็กๆ สีแดง ใส่ปลานาตามธรรมชาติด้วยจะยิ่งอร่อย

แกงผักปลังใส่จิ๊นส้ม (เจียวผักปลัง)

หมวดแกง
ผักปลัง เป็นผักที่มียางลื่น กินได้ทั้งยอดอ่อน ดอก และเมล็ด

แกงผักพ่อค้าตีเมีย

หมวดแกง
ผักพ่อค้าตีเมียเป็นพืชป่าตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง เหตุที่เรียกว่า ผักพ่อค้าตีเมีย มีเรื่องเล่าว่า พ่อค้าให้เมียแกงผักชนิดนี้เพื่อเตรียมตัวออกไปค้าขาย แต่ผักชนิดนี้มีความกรอบมากต้องใช้เวลาแกงนาน ผักไม่สุกสักทีเป็นเหตุให้พ่อค้าโมโหเมียตัวเองที่ทำให้ออกไปค้าขายช้า จึงตีเมีย อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงเรื่องเล่าเชิงคติชนพื้นบ้าน หากในความเป็นจริง การเล่าเรื่องสื่อถึงความพิเศษของผักชนิดนี้ว่ามีความกรุบกรอบจนทำให้รู้สึกว่าผักยังไม่สุกดี หรือสุกยากนั่นเอง

แกงผักมะไห่

หมวดแกง
แกงผักมะไห่หรือผักบ่าไห่ คือ ยอดมะระชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำยอดมาแกงได้ อาจแกงใส่ปลาแห้ง หรือ หมูย่างก็ได้

แกงผักหละ (ชะอม) ใส่เห็ดและบ่าถั่ว (ถั่วฝักยาว)

หมวดแกง
ยอดชะอมใช้ทำอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งใส่แกงหน่อไม้สด แกงแค เจียวกับไข่ และนำมาแกง โดยเฉพาะ แกงชะอมใส่เห็ดฟางและถั่วฝักยาว หรือใส่เห็ดหูหนูลงไปเล็กน้อยก็ยิ่งดี

แกงผักหวาน

หมวดแกง
มี ๒ ตำรับ คือ แกงผักหวานป่า และแกงผักหวานบ้าน นิยมแกงใส่ไข่มดแดง ซึ่งเป็นฤดูที่ผักหวานป่าผลิยอดในช่วง เดือนมีนาคม - มิถุนายน และเป็นช่วงเดียวกับมดแดงออกไข่ การแกงผักหวาน จะใส่ได้ทั้งปลาย่างสด และปลาแห้งก็ได้ ใส่วุ้นเส้น ถ้าชอบมะเขือเทศก็ใส่ลงไปได้ ส่วนผสม คือ ผักหวานป่า วุ้นเส้น ปลาแห้ง เครื่องแกงมี พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ เกลือ

แกงผักเซียงดา

หมวดแกง
แกงผักเซียงดาหรือแกงผักเซงดา มีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงผักหวานบ้าน และแกงผักหวานป่า แต่ไม่ใส่วุ้นเส้น นิยมใส่ปลาย่าง หรือปลาแห้ง บางสูตรแกงร่วมกับผักเสี้ยว (ยอดชงโค) และผักชะอม หรือร่วมกับผักชะอมอย่างเดียว หรือแกงร่วมกับผักฮ้วนหมู (ใบใหญ่กว่าผักเซียงดา มีรสขมเล็กน้อย) และมะเขือเทศลูกเล็ก เครื่องแกงมีพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ เกลือ บางแห่งใส่ปลาร้าเพิ่มลงไปด้วย

แกงผักเสี้ยว (ชงโค)

หมวดแกง
แกงผักเสี้ยว (ชงโค) เป็นพืชที่นิยมปลูกไว้ตาม บ้าน เป็นไม้ประดับ มีดอกสีขาวหรือชมพู และชาวพื้นเมืองทางภาคเหนือนิยมเด็ดยอดมาแกงกิน เครื่องปรุงประกอบด้วย ผักเสี้ยว มะเขือเทศ (มะเขือส้ม) พริกขี้หนู หรือพริกชี้ฟ้า กระเทียมหอมแดง กะปิ ปลาร้า เกลือ

แกงฟักหม่นใส่ไก่

หมวดแกง
แกงฟักหม่นหรือฟักเขียวใส่ไก่ เป็นอาหารที่นิยมทำในงานบุญ หรืองานที่เป็นมงคล เพราะชื่อฟักมีความหมายแสดงถึงความฟูมฟัก คือฟูมฟักสิ่งดีๆ อาทิ ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี ความมีน้ำใจร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือกันของเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการสร้างบ้านเรือน สมัยโบราณมักจะใช้วิธีไหว้วานเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันโดยไม่มีการจ้าง จึงมีการแกงฟักใส่ไก่เลี้ยงผู้มาช่วยงาน

แกงยอดต๋าว

หมวดแกง
มีส่วนประกอบคือ ยอดต๋าว เนื้อหมู น้ำพริกแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงสะแล

หมวดแกง
เป็นคำเรียกชื่ออาหารอีกชนิดหนึ่ง สะแลเป็นพืชไม้เลื้อย เครือเถาใหญ่ ใช้ส่วนของดอกมาทำแกง จึงเรียกว่า แกงสะแล โดยแกงใส่ซี่โครงหมู หรือ หมูสามชั้น ใส่มะขามเปียก หรือ มะเขือเทศลูกเล็กให้มีรสเปรี้ยวเล็กน้อยเพื่อกำจัดรสฝาดนิดๆ ของดอกสะแล

แกงส้มดอกแคใส่ปลา

หมวดแกง
ดอกแคสีขาวมีรสหวานอมขมนิด ๆ คนล้านนานิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะนำมาลวกจิ้มน้ำพริก ใส่แกงแค หรือนำมาทำแกงส้มก็อร่อยไปอีกแบบ

แกงส้มมะละกอ

หมวดแกง
มะละกอ เป็นได้ทั้งผลไม้และอาหารประเภทพืชผัก สามารถบริโภคขณะดิบได้ คือ นำไปทำส้มตำที่ทำทานกันทุกภาคของไทย แต่สูตรอาจแตกต่างกันไป การนำมะละกอดิบมาทำแกงส้มนี้คงต้องบันทึกไว้ เพราะคนปัจจุบันอาจไม่ค่อยได้ทำทานกัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตอาจจะไม่มีใครรู้ว่า มะละกอก็สามารถนำมาทำแกงส้มได้แสนอร่อย ไม่แพ้แกงส้มผักอื่นๆ

แกงหน่อไม้

หมวดแกง
แกงหน่อไม้ อาจใช้หน่อไม้หลายชนิด เช่น หน่อไม้ไผ่ หน่อไม้หวาน หน่อไม้ไผ่ตง หน่อไม้ซาง หน่อไม้รวก ซึ่งในบรรดาหน่อไม้หลากหลายชนิดนี้ หน่อไม้รวก จัดว่าอร่อยที่สุด เพราะมีรสหวานไม่ขื่น และยังมีความเหนียวนุ่มอีกด้วย

แกงหน่อไม้ดอง (หน่อไม้ส้ม หน่อส้ม)

หมวดแกง
แกงหน่อไม้ดองหรือหน่อไม่ส้มถ้าจะให้อร่อย ควรใช้หน่อไม้ที่ดองไม่นานนัก และยังกรอบ ไม่อ่อนเกินไป

แกงหยวกใส่ไก่, ใส่ปลาแห้ง, ใส่วุ้นเส้น

หมวดแกง
หยวกกล้วยอ่อนๆ นำมาแกงใส่เนื้อไก่ หรือปลาแห้ง และวุ้นเส้น เป็นอาหารแสนอร่อยอย่างหนึ่งของชาวล้านนา การเลือกหยวกกล้วย เลือกจากต้นขนาดกลาง แล้วตัดเอาส่วนต้นๆ และเปลือกนอกออกจนเหลือแต่เนื้อในที่อ่อนนุ่ม

แกงหลามจิ้นแห้ง

หมวดแกง
มีส่วนประกอบคือ จิ๊นแห้ง (เนื้อควายแห้ง) ผักพื้นบ้าน เครื่องปรุง ได้แก่ ข่า ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง เกลือ กะปิ พริกขี้หนู มะแขว่น

แกงหัวปลี

หมวดแกง
แกงหัวปลี เป็นแกงที่นิยมทำรับประทานกันทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนา เพราะหัวปลีเป็นของหาง่าย โดยทุกบ้านมักจะปลูกกล้วยไว้ที่หน้าบ้านหรือหลังบ้าน และกล้วยมักจะมีลูกออกตลอดทั้งปี หากกล้วยตกปลีออกจนสุดเครือแล้ว หัวปลีที่หมดลูกจะต้องถูกตัดออก ไม่อย่างนั้นกล้วยจะลูกเล็กไม่อวบอ้วน เพราะน้ำถูกแย่งไปเลี้ยงหัวปลีหมด ซึ่งถือเป็นสิ่งไร้ประโยชน์สำหรับต้นกล้วย แต่หัวปลี กลับมีประโยชน์ต่อคน เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารให้เอร็ดอร่อยได้

แกงหัวมันแกว

หมวดแกง
เป็นอาหารของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีส่วนประกอบคือ หัวมันแกว เนื้อหมู น้ำพริกแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงหางหวาย

หมวดแกง
มีส่วนประกอบ คือ หางหวาย เนื้อหมู พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ตะไคร้ กะปิ ใบมะกรูด ดอกข่า ดอกต้าง จะค่าน (สะค้าน) ชะอม ผักแค

แกงฮังเล

หมวดแกง
แกงฮังเล เป็นแกงประเภทน้ำขลุกขลิก รสชาติหวานอมเปรี้ยว ใช้หมูสามชั้นเป็นส่วนประกอบหลัก บางท้องถิ่นใช้เนื้อ (วัว ควาย) หั่นเป็นชิ้นๆ ผสมกับเนื้อหมู คำว่า ฮังเล สันนิษฐานว่าเป็นคำในภาษาพม่า ซึ่งพ้องกับชื่อเมืองหนึ่งในประเทศเมียนมาร์ คือ เมืองอินเลความหมายของคำว่า ฮังเล มาจากคำว่า ฮัง หรือ ฮิน แปลว่า แกง ส่วนคำว่า เล แปลว่า เนื้อ ดังนั้น ฮังเล จึงแปลว่า แกงเนื้อ โดยชาวล้านนารับวัฒนธรรมอาหารประเภทนี้มาจากพม่า ลักษณะสีสันและรสชาติก็คล้ายกับแกงกะหรี่ของพม่าที่มีน้ำแกงเข้มข้นรสหวานอมเปรี้ยวลงตัว ใช้รับประทานกับโรตีทอดกรอบที่ไม่ปรุงรส

แกงเหมือน

หมวดแกง
ล้านนาเรียก แกงอ่อมเนื้อชาโดว์ (เนื้อสุนัข) ใช้เนื้อสุนัข เป็นส่วนผสมหลัก

แกงเห็ดตับเต่า

หมวดแกง
หรือล้านนาเรียกเห็ดห้า เป็นแกงที่ใช้พริกแห้ง หรือพริกสดเป็นเครื่องปรุงก็ได้ และใส่ยอดเม่า หรือยอดมะขาม ก็ได้ แล้วแต่ชอบ มีรสชาติอร่อยทั้ง ๒ ตำรับ หรือว่าจะนำเห็ดตับเต่าแกงกับยอดฟักทอง แล้วใส่ใบแมงลัก ก็เป็นตำรับแกงเห็ดตับเต่าอีกตำรับหนึ่ง ส่วนผสม เห็ดตับเต่า ซี่โครงหมู หรือหมูบด ยอดเม่า เครื่องแกงมีพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิหยาบ เกลือ

แกงเห็ดถอบ

หมวดแกง
แกงเห็ดถอบ หรือ แกงเห็ดเผาะ เป็นแกงพื้นบ้านของทางภาคเหนือที่นิยมทำกันมาก เพราะมีรสชาติอร่อย กรอบ เครื่องปรุงประกอบด้วย เห็ดถอบ เนื้อหมูสามชั้น ยอดมะขาม พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า เกลือ

แกงเห็ดถั่วเหลือง

หมวดแกง
มีส่วนประกอบคือ เห็ดถั่วเหลือง เนื้อหมู เครื่องแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงเห็ดปีด

หมวดแกง
มีส่วนประกอบคือ เห็ดปีด น้ำพริกแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงเห็ดลม

หมวดแกง
เห็ดลม หมายถึง เห็ดชนิดหนึ่งของล้านนา มีลักษณะดอกบางแต่เหนียว มีสีน้ำตาลเหมือนเปลือกไม้ มักรับประทานขณะยังอ่อนเพราะไม่เหนียวเกินไป นิยมแกงใส่ชะอม หรือถั่วฝักยาว และใบชะพลูลงไปด้วย บางที่ใส่ปลาแห้ง ทำให้น้ำแกงมีรสชาติกลมกล่อม สำหรับสูตรนี้ ใส่ข่าและตะไคร้เป็นเครื่องแกง เพิ่มกลิ่นหอมของแกงด้วย ส่วนผสมคือ เห็ดลมอ่อน ชะอมเด็ด ใบชะพลูหั่นหยาบ เครื่องแกงมี พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ข่าหั่น ตะไคร้หั่น กะปิ ปลาร้าต้มสุก เกลือ

แกงเห็ดแพะ

หมวดแกง
เห็ดแพะ หรือเห็ดที่ได้จากป่าจากดอย เช่น เห็ดแดง เห็ดมัน หรือเห็ดขอน ส่วนผสมคือ เห็ดมัน ใบชะพลู ชะอม กระดูกหมู หรือปลาแห้ง มะเขือเทศลูกเล็ก เครื่องแกงมีพริกสด หอมแดง กระเทียม กะปิ เกลือ

แกงแค

หมวดแกง
แกงแคเป็นอาหารที่มีผักต่างๆ เป็นส่วนประกอบหลากหลายชนิด โดยเฉพาะผักที่ได้จากสวนครัวหรือริมรั้ว เช่น ผักตำลึง ผักชะอม ดอกแค ถั่วฝักยาว มะเขือขื่น มะเขือพวง พริกขี้หนู ใบพริก ผักเผ็ด ผักปราบ รวมทั้งเห็ดลมอ่อน ตูน ยอดมะพร้าวอ่อน โดยอาจมีเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแกง อาทิ เนื้อไก่ นก หมู ส่วนเครื่องแกงประกอบด้วย พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ข่า ตะไคร้ กะปิ หรือปลาร้า