จำนวน 16 รายการ

ขนมจีนน้ำเงี้ยว

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ขนมจีนน้ำเงี้ยว ซึ่งมีความพิเศษแตกต่างกับสูตรอื่น ๆ ที่ใส่ดอกงิ้วแห้งลงไปในน้ำขนมจีน และใส่มะเขือเทศลูกเล็กเพื่อให้มีรสออกเปรี้ยวเล็กน้อย คำว่า “น้ำเงี้ยว” มาจากการที่ชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ หรือ ภาษาท้องถิ่นล้านนาเรียกว่า “เงี้ยว” เป็นเจ้าของตำรับ ดังนั้นขนมจีนน้ำเงี้ยวจะต้องมีส่วนผสมของถั่วเน่าแข็บ เพราะถั่วเน่าเป็นส่วนประกอบหลักในอาหารทุกชนิดของชนชาติพันธุ์ไทใหญ่นั่นเอง

ขนมจีนน้ำแจ่ว

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
คำว่า ขนมจีน ใช้เรียกตามภาษาไทยกลาง หากเป็นภาษาล้านนา ใช้คำว่า “ขนมเส้น” เพราะเรียกตามลักษณะที่เป็นเส้นๆ ขนมจีนน้ำแจ่ว หรือ ขนมเส้นน้ำแจ่ว จัดเป็นเมนูยอดนิยมของชาวบ้านทั่วไปในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นขนมจีนที่แตกต่างจากขนมจีนทั่วไป มีลักษณะเป็นน้ำใส ส่วนประกอบน้ำแจ่ว ได้แก่ เครื่องในหมู ข่า ตะไคร้ หมูบด กระดูกหมู น้ำปลา หอมแดง ส่วนประกอบเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำปลา น้ำตาล พริกขี้หนูสด กระเทียม

ขนมจ็อก

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ขนมจ็อก เป็นคำเรียกชื่อขนมของล้านนาที่รู้จักกันทั่วไป ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ขนมไส้เทียน หรือ ขนมนมสาว เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว โดยมักทำในช่วงมีงานบุญสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ หรือปี๋ใหม่เมือง ที่จะต้องเตรียมอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด และไปทานขันข้าวแก่ญาติผู้ใหญ่ คนล้านนาสมัยก่อนจะเตรียมทำขนมจ็อกในวันดา หรือวันเตรียมงาน ซึ่งเป็นวันเนาว์ หรือ วันเน่า

ขนมส่วยทะมิน

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ขนมส่วยทะมิน เป็นขนมที่ขึ้นชื่อของชาวไทใหญ่ ส่วนประกอบหลัก คือ แป้งข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาล น้ำอ้อย เกลือ

ขนมอาละหว่า

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ขนมอาละหว่า เป็นคำเรียกชื่อขนมที่ขึ้นชื่ออีกชนิดหนึ่งของชาวไทใหญ่และจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีส่วนผสม คือ แป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลทราย เกลือ

ขนมเป็งม้ง (เป็งโม้ง)

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ขนมเป็งม้ง (เป็งโม้ง) เป็นขนมของชาวไทใหญ่ ส่วนประกอบหลัก คือ แป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาลทราย ผงฟู

ข้าวควบ

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
หมายถึง การนำข้าวจ้าวบดละเอียดนำมากวนไข่เป็ด คนเข้ากันใส่น้ำตาลปิ๊บหรือน้ำอ้อยให้ออกรสหวาน ต้มเคี่ยวให้เหนียว หยอดใส่พิมพ์วงไม้เป็นแผ่นใหญ่ นำไปตากแดด เมื่อแห้งแล้วนำมาทอดน้ำมันร้อนๆ อย่างเร็ว หรือปิ้งไฟร้อนๆ ต้องระวังไม่ให้แตก

ข้าวจี่

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
คำว่า “จี่” หมายถึง การนำไปเผาหรือปิ้งบนเตาไฟ (เตาถ่าน หรือ เตาเผาฟืน ไม่ใช่เตาแก๊สแบบปัจจุบัน) ข้าวที่นำมาจี่ก็เป็นข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่เช่นเดียวกับข้าวหลาม โดยนำข้าวที่นึ่งสุกแล้วมาปั้นเป็นก้อนกลม แล้วบีบให้แบนพอดี อาจคลุกด้วยไข่และเกลือ ก่อนนำไปปิ้งบนเตาถ่านร้อนๆ ต้องคอยพลิกมิให้ข้าวไหม้ แต่ให้ไข่ที่เคลือบสุกและข้าวพองแตกมีกลิ่นหอม คนล้านนาโบราณนิยมทำไปถวายพระหลังฤดูเก็บเกี่ยวเช่นเดียวกับการ “ทาน (ถวาย) ข้าวใหม่- ข้าวหลาม”

ข้าวซอยน้ำหน้า

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ข้าวซอยน้ำหน้า เป็นอาหารประจำถิ่นของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เส้นข้าวซอยก็คือเส้นก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง มีเครื่องปรุงประกอบด้วย หมูบด พริกแห้ง เกลือ กระเทียม หอมแดง ถั่วเน่าแผ่น

ข้าวต้มหัวหงอก

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ข้าวต้มหัวหงอก เป็นคำเรียกขนมของล้านนา ที่หมายถึง ข้าวต้มมัด หรือห่อเป็นรูปสามเหลี่ยม คำว่าหัวหงอก คือ การโรยด้วยมะพร้าวขูด ที่มีสีขาวคล้ายกับผมหงอกนั่นเอง

ข้าวหนุกงา

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
หมายถึง การนำข้าวใหม่นึ่งสุกมาคลุกกับงาขี้ม้อน ซึ่งเป็นงาพื้นบ้าน มีกลิ่นหอม โดยนำงามาโขลกใส่เกลือเล็กน้อยก่อนนำไปคลุกกับข้าวเหนียวสุกร้อนๆ ให้ทั่ว แล้วรับประทานได้ทันทีจะมีรสชาติอร่อย หากทิ้งไว้ให้ข้าวเย็น จะแข็งและเสียรสไป นอกจากนี้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังมีอาหารทานเล่นลักษณะคล้ายกับข้าวหนุกงา แต่เรียกตามภาษาถิ่นว่า “ข้าวปุ๊ก” เกิดจากการนำข้าวเหนียวนึ่งสุกมาตำในครกไม้ขนาดใหญ่ผสมกับงาและเกลือ ตำจนข้าวเหนียวติดกันเป็นก้อน แล้วนำมารับประทาน

ข้าวหลาม

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ข้าวหลามของล้านนา หมายถึง ข้าวเหนียวสุกด้วยการเผาในกระบอกไม้ไผ่ป่า โดยการนำกระบอกไม้ไผ่ป่าที่ตัดเป็นปล้องๆ มาบรรจุข้าวเหนียวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ แล้วแช่น้ำไว้หนึ่งคืน ก่อนนำไปเผาเพื่อให้สุก คำว่า หลาม จึงมีความหมายเฉพาะถึงการนำอาหารชนิดใดก็ได้มาบรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุกนั่นเอง เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ใช้ในเวลาเข้าป่า เพื่อไม่ให้เป็นการยุ่งยากในการนำภาชนะหม้อไหต่างๆ ติดตัวไปจนพะรุงพะรัง สามารถหาวัสดุธรรมชาติในป่ามาเป็นภาชนะหุงหาอาหารได้ง่ายๆ

ข้าวแคบ

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
หมายถึง การนำข้าวเหนียวมาตำจนละเอียดแล้วทำเป็นแผ่นวงกลมบางๆ โรยด้วยงาดำ นำไปตากแดดจนแห้งแล้วนำมาปิ้งไฟ หรือทอดในน้ำมันก็ได้ ข้าวจะพองเป็นแผ่นกรอบอร่อย ข้าวแคบจะมีสีขาว หรือสีนวล

ข้าวแต๋น

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ข้าวแต๋น หมายถึง การนำข้าวเหนียวนึ่งสุก มาคลุกกับน้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้ว หรือ น้ำที่คั้นจากแตงโม พอให้ออกรสหวานน้อยๆ แล้วนำข้าวมากดลงบนพิมพ์วงกลมก่อนนำไปตากแดดจนแห้ง เมื่อแห้งดีแล้ว จากนั้นนำมาทอดในน้ำมันร้อนๆ จนพอง เมื่อตักลงพักให้สะเด็ดน้ำมันแล้วจึงนำน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนข้นมาราดเป็นเส้นไล่ตามวงกลม ทิ้งไว้ให้แห้งจึงรับประทานได้ บางคนไม่ชอบหวานอาจไม่ต้องราดด้วยน้ำอ้อยเคี่ยวก็ได้ เพราะได้คลุกน้ำอ้อยมาก่อนแล้ว นอกจากกรณีที่ไม่ได้คลุกจึงราดน้ำอ้อยลงไปให้มีรสชาติหวานพอดี ความจริงคนล้านนาโบราณทำข้าวแต๋นเพื่อเป็นการเก็บรักษาอาหาร โดยนำข้าวเหนียวที่เหลือจากการรับประทานมาตากเก็บไว้ เมื่อรวมกันได้จำนวนพอสมควรจึงทอดเป็นข้าวแต๋นรับประทาน หรือห่อติดตัวเวลาเข้าป่าไปหาของป่าเป็นเวลานาน สามารถเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน

ข้าวแรมฟืน

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ข้าวแรมฟืน เป็นอาหารของคนไทลื้อ และไทใหญ่ รับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งตัวข้าวแรมฟืนทำมาจากถั่วลิสง มาผสมกับข้าวแรมฟืนที่ทำมาจากการโม่ข้าวเจ้าแข็งทำแป้ง แล้วนำแป้งที่ตกตะกอนมาเคี่ยวกับปูนขาวจนสุก จากนั้นเทใส่ภาชนะ ทิ้งไว้ ๑ คืน วันรุ่งขึ้นแป้งจะแข็งตัว เมื่อได้แป้งข้าวแรมฟืนแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เตรียมไว้ เครื่องปรุง ข้าวแรมฟืน ได้แก่ น้ำถั่วเน่า (ถั่วเหลืองหมัก) ได้จากการนำถั่วเหลืองที่โขลกละเอียด แล้วผสมน้ำต้มสุก น้ำขิง กระเทียมเจียวน้ำมัน ถั่วลิสงป่น เกลือป่น น้ำมะเขือเทศ งาขาวป่น ผงชูรส ซีอิ้วดำ น้ำมะเขือเทศ เป็นเหมือนกับน้ำซุปที่ใส่ลงไปในข้าวแรมฟืนที่หั่นเตรียมไว้

ไกน้ำเกลือ

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ไกน้ำเกลือ มีส่วนประกอบ คือ ไกแม่น้ำโขง เกลือ กระเทียมเจียว ข่าสับละเอียด