๑. ความหมายของจักรวาล


ความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลในทางพุทธศาสนานั้นสันนิษฐานว่าได้รับแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ เป็นการเพิ่มเติมให้มีความพิสดารมากขึ้นเนื่องจากคติไตรภูมิจักรวาลไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก ความที่ต่อเติมขึ้นนั้นพระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดีย ซึ่งเป็นพระอรรถกถาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของฝ่ายเถรวาทในพุทธศตวรรษที่ ๙ ได้แต่งอรรถกถาแก้อธิบายพระไตรปิฎกให้มีความพิสดารมากขึ้น ในเรื่องของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่โคจรรอบจักรวาลและเขาพระสุเมรุ

หลักฐานที่ปรากฏในอัคคัญญสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วยกำเนิดของโลกมีที่มาจากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑ พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงแก่สามเณร ๒ รูป คือ วาเสฏฐะและภารทวาชะ มีสาระสำคัญ เพื่อแสดงเรื่องต้นกำเนิดของโลกในการหักล้างความเห็นผิดของพราหมณ์ว่าต้นกำเนิดมาจากพระโอษฐ์ของพระพรหม เป็นวรรณะที่ประเสริฐกว่าวรรณะอื่นๆ เพื่อแสดงคุณธรรมที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ประเสริฐ ไม่ใช่ประเสริฐที่วรรณะ โดยพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกได้กล่าวถึงจักรวาลในลักษณะการอธิบายปรากฏการณ์บนท้องฟ้าตามที่ตาเห็น ความสัมพันธ์กับเวลาและฤดูกาลซึ่งมีความเป็นรูปธรรม ความว่า

“(๑๒๑) วาเสฏฐะและภารทวาชะ ต่อมา สัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ เพื่อจะบริโภค เมื่อใดสัตว์เหล่านั้นพากันใช้มือปั้นง้วนดินให้เป็นคำๆ เพื่อบริโภค เมื่อนั้นรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายของสัตว์เหล่านั้นก็หายไป เมื่อรัศมีที่ซ่านออกจากร่างกายหายไป ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ก็ปรากฏ เมื่อดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ ดวงดาวนักษัตรทั้งหลายก็ปรากฏ เมื่อดวงดาวนักษัตรทั้งหลายปรากฏ กลางคืน กลางวันก็ปรากฏ เมื่อกลางคืน กลางวันปรากฏ เดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนก็ปรากฏ เมื่อเดือนหนึ่ง ครึ่งเดือนปรากฏ ฤดูและปีก็ปรากฏ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ โลกนี้จึงได้กลับฟื้นขึ้นอีก”

แนวความคิดเรื่องจักรวาลที่แต่งเติมขึ้นให้มีความพิสดารนั้นได้ส่งผลต่อพระเถระในรุ่นหลังที่แต่งคัมภีร์อธิบายไตรภูมิจักรวาลตามแนวทางของพระพุทธโฆษาจารย์ปรากฏในวรรณกรรมต่างๆ ทั้งที่แต่งโดยพระเถระชาวล้านนา เช่น จกฺกวาฬทีปนี ไตรภุมม์ฉบับล้านนา รวมทั้งไตรภูมิกถาหรือไตรภูมิพระร่วง พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย นอกจากในลักษณะงานวรรณกรรมแล้ว ยังมีการถ่ายทอดเป็นรูปแบบของงานพุทธศิลป์ เช่น จิตรกรรมภาพไตรภูมิ การจัดวางผังวัด การกำหนดตำแหน่งของงานสถาปัตยกรรม การกำหนดรูปแบบและองค์ประกอบต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ตามคติจักรวาล โดยกำหนดให้สัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

จากคติจักรวาล สู่ไตรภูมิจักรวาล

เมื่อพิจารณาตามหลักฐานที่ปรากฏในอัคคัญญสูตรที่มาจากพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ๑ แล้วพบว่าพระพุทธเจ้าทรงกล่าวถึงจักรวาลที่สัมพันธ์กับเวลาและฤดูกาล ส่วนเรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ เช่น พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ประเภทปกรณ์ต่างๆ ปรากฏในหลักคำสอนเพื่อส่งเสริมความเชื่อของคนในเรื่องจักรวาลที่อธิบายถึงวิธีคิด และปรัชญาทางพระพุทธศาสนาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด หรือวัฏสงสารของสิ่งมีชีวิตใน ๓ ภพภูมิ ประกอบด้วย กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ เพื่ออธิบายถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะส่งผลถึงสิ่งที่จะเกิดในอนาคตอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับ “กรรม” หรือการกระทำที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันส่งผลถึงการกำหนดพฤติกรรมของคนให้ประพฤติแต่กรรมดี เพื่อประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันอย่างมีปกติสุขในปัจจุบัน และชีวิตในชาติภพต่อไปในอนาคต

จุดหมายสูงสุดของคติไตรภูมิจักรวาลที่ใช้ในการอธิบายให้เห็นสัณฐานต่างๆ ของจักรวาล ชาติภพ ภพภูมิทั้งสามนอกจากการเวียนว่ายตายเกิดที่เป็นอยู่ในภพภูมิทั้งสามแล้ว ยังเน้นเป้าหมายสูงสุดของการเวียนว่ายตายเกิด คือ “นิพพาน” ความดับสนิทแห่งกองกิเลสและกองทุกข์ มีหนทางไปถึงได้ด้วยการทำความดีตามหลักธรรมคำสอนของศาสนา อันได้แก่การรู้ถึงอริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ และมรรค ๘ สิ่งที่ควรประพฤติเพื่อความรู้แจ้งเห็นจริง