จำนวน 5 รายการ

น้ำพริกตาแดง

หมวดน้ำพริก
อ่านว่า น้ำพิกต๋าแดง ความหมาย คือ เผ็ดจนร้องไห้ตาแดงนั่นเอง บ้างเรียก น้ำพริกแดงเพราะใช้พริกแห้งที่ทำให้สีของน้ำพริกแดงสด เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้นเหนียว มีส่วนผสมหลักคือ พริกแห้ง ปลาร้า ปลาแห้ง บางสูตรไม่นิยมใส่ปลาแห้ง หอมแดง กระเทียม และเกลือ รับประทานพร้อมเครื่องเคียงทั้งผักสด เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ หรือผักลวก ผักนึ่ง เช่น ผักกาด ฟักทอง กระเจี๊ยบ ถั่วพู ถั่วฝักยาว ฯ

น้ำพริกอ่อง

หมวดน้ำพริก
น้ำพริกอ่อง คำว่า อ่อง หมายถึง เคี่ยวไฟอ่อนจนงวด มีน้ำขลุกขลิก นับเป็นน้ำพริกพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายพอๆ กับน้ำพริกหนุ่ม ลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่อง คือมีสีส้มของมะเขือเทศและพริกแห้งที่เคี่ยวจนเป็นน้ำขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าเล็กน้อย มีสามรส คือ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด เล็กน้อย และรสหวานตาม นิยมรับประทานกับผักสดหรือผักลวกก็ได้ บางสูตร ผัดหมูก่อนแล้วจึงตามด้วยเครื่องปรุงและมะเขือเทศภายหลัง บางสูตร โขลกเนื้อหมู เครื่องปรุงและมะเขือเทศให้เข้ากันก่อน จึงนำไปผัดกับน้ำมัน บางสูตรใส่ถั่วเน่าแข็บหรือใส่เต้าเจี้ยว ในการปรุงรส ส่วนผสมคือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ หมูบด มะเขือเทศลูกเล็ก ต้นหอม ผักชี น้ำมันสำหรับผัด รับประทานกับเครื่องเคียง เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ กะหล่ำปลีสด หรือผักลวก เช่น ผักกาดเขียว มะเขือม่วง ถั่วฝักยาว ถั่วพู เครื่องเคียงอื่น เช่น แคบหมู หนังปอง (หนังควายทอดจนพอง คล้ายแคบหมู)

น้ำพริกฮ้าหมก หรือน้ำพริกปลาร้า

หมวดน้ำพริก
คำว่า หมก หมายถึง เผาในขี้เถ้าร้อนๆ หรือถ่านไฟแดงๆ ส่วนผสมคือปลาร้า พริกสด หอมแดง กระเทียม มะเขือเทศลูกเล็ก เกลือ รับประทานกับเครื่องเคียง คือผักลวก หรือผักนึ่ง เช่น ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี ฟักทอง กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือม่วง ฯ

น้ำพริกแมงมัน

หมวดน้ำพริก
แมงมัน หมายถึง แมลงชนิดหนึ่งคล้ายมด ตัวนางพญามีลักษณะตัวใหญ่กว่าผึ้ง มีปีก ที่นิยมรับประทานคือพันธุ์ตัวเมีย มีสีแดงกล่ำ น้ำพริกแมงมัน เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะค่อนข้างแห้งถึงข้น ชนิดของพริกที่นิยมใช้คือ พริกสด จะเป็นพริกชี้ฟ้า หรือพริกพันธุ์ใดก็ได้ ถ้าชอบเผ็ด ให้ใช้พริกชี้ฟ้า สำหรับส่วนผสมถ้าเปลี่ยนเป็นตัวต่ออ่อน แตนตัวอ่อน หรือผึ้งตัวอ่อน ก็ใช้สูตรการทำเหมือนกัน และเรียกชื่อน้ำพริกว่า น้ำพริกต่อ น้ำพริกแตน มีส่วนผสมคือ พริกชี้ฟ้า หอมแดง กระเทียม เกลือ รับประทานกับแตงกวา ถั่วฝักยาว ยอดกระถิน ผักสด หรือผักลวก เช่น ผักกาดเขียว ถั่วพู ฟักแม้ว (มะเขือเครือ)

น้ำพริกโจ๊ะ หรือน้ำพริกโย๊ะ

หมวดน้ำพริก
คำว่า โจ๊ะ สันนิษฐานว่ามาจากลักษณะของการใช้ไม้ตีพริกลงโขลกช้าๆ และเบา เมื่อใส่มะเขือเทศเผาแกะเปลือกลงไปรวมกับส่วนผสมอื่นๆ แล้ว การโขลกลักษณะนี้จะต้องระมัดระวังเพราะมะเขือเทศมีน้ำมาก และเรียกอาการโขลกแบบนี้ว่า “โจ๊ะ” ส่วนผสมของน้ำพริกโจ๊ะคล้ายน้ำพริกปลาร้า แต่เพิ่มหมูบด และมะเขือเทศลูกเล็ก ประกอบด้วยหมูบด ปลาร้า พริกสด หอมแดง กระเทียม มะเขือเทศลูกเล็ก เกลือ รับประทานกับเครื่องเคียง คือผักลวก หรือผักนึ่ง เช่น ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี ฟักทอง กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือม่วง ฯ