จำนวน 92 รายการ

ขนมจีนน้ำเงี้ยว

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ขนมจีนน้ำเงี้ยว ซึ่งมีความพิเศษแตกต่างกับสูตรอื่น ๆ ที่ใส่ดอกงิ้วแห้งลงไปในน้ำขนมจีน และใส่มะเขือเทศลูกเล็กเพื่อให้มีรสออกเปรี้ยวเล็กน้อย คำว่า “น้ำเงี้ยว” มาจากการที่ชนชาติพันธุ์ไทใหญ่ หรือ ภาษาท้องถิ่นล้านนาเรียกว่า “เงี้ยว” เป็นเจ้าของตำรับ ดังนั้นขนมจีนน้ำเงี้ยวจะต้องมีส่วนผสมของถั่วเน่าแข็บ เพราะถั่วเน่าเป็นส่วนประกอบหลักในอาหารทุกชนิดของชนชาติพันธุ์ไทใหญ่นั่นเอง

ข้าวซอยน้ำหน้า

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ข้าวซอยน้ำหน้า เป็นอาหารประจำถิ่นของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เส้นข้าวซอยก็คือเส้นก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง มีเครื่องปรุงประกอบด้วย หมูบด พริกแห้ง เกลือ กระเทียม หอมแดง ถั่วเน่าแผ่น

คั่วผักโขม

หมวดคั่ว
คั่วผักโขม มีส่วนประกอบคือ ผักโขม (ล้านนาเรียก ผักหม) เนื้อหมูบด พริกแห้ง กะปิ เกลือ กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ข่า

คั่วฟักเขียว

หมวดคั่ว
คั่วฟักเขียว เป็นอาหารเฉพาะถิ่นของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีส่วนประกอบ คือ ฟักเขียว เนื้อหมู พริกแห้ง กะปิ ถั่วลิสง เกลือ กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ข่า

คั่วเห็ดถอบ

หมวดคั่ว
คั่วเห็ดถอบ เห็ดถอบ หมายถึงเห็ดเผาะ เป็นคำเรียกชื่ออาหารที่ได้จากป่า เป็นเห้ดที่มีความกรอบและรสชาติดี จึงเรียกว่า เห็ดถอบ มีหลายสูตรแตกต่างกันไปแต่ละท้องถิ่น สำหรับสูตรของลำพูนมีส่วนประกอบ คือ เห็ดถอบ หมูสับ ยอดมะขามอ่อน ยอดมะพร้าวอ่อน ผักชีฝรั่ง

คั่วเห็ดปีด

หมวดคั่ว
คั่วเห็ดปีด เป็นอาหารเฉพาะถิ่นของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีส่วนประกอบ คือ เห็ดปีด เนื้อหมูบด พริกแห้ง กะปิ เกลือ กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ ข่า

จิ๊นลุง

หมวดอุ๊ก
จิ๊นลุง (เนื้อลุง) ลุงแปลว่า ลำ หรือ ก้อน มาจากภาษาพม่า เป็นอาหารประจำถิ่นของ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีวิธีการทำคล้ายอุ๊ก ส่วนประกอบหลัก คือ หมูเนื้อแดง ตะไคร้ หอมแดงแกะเปลือก พริกขี้หนูแห้ง กระเทียมแกะ มะเขือเทศ ขมิ้นผง น้ำมันพืชต้นหอม ผักชี กะปิ ผักชีฝรั่ง เกลือป่น

จิ๊นฮุ่ม

หมวดอุ๊ก
คำว่า จิ๊น หมายถึง เนื้อวัว ควาย เนื้อหมู หรือเนื้อเค็มตากแห้ง (ที่เรียกว่า จิ๊นแห้ง) ส่วนคำว่า ฮุ่ม มาจากการนำเนื้อที่ตากแห้งและมีกลิ่นเล็กน้อยมาปรุงแบบแกงพอมีน้ำขลุกขลิก ดังนั้น การทำ จิ๊นฮุ่ม จึงปรุงอย่างแกง เคี่ยวด้วยไฟอ่อนๆ ให้เนื้อเปื่อย และเหลือน้ำเพียงเล็กน้อย ส่วนผสมคือ เนื้อหมู (หรือเนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อเค็มตากแห้ง ชนิดใดชนิดหนึ่ง) ตะไคร้ซอย ผักชีลาว รากผักชี ผักชีซอย ต้นหอมซอย เครื่องแกงมีพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ ตะไคร้ซอย ข่าหั่น ขมิ้น เกลือ

ตำจิ๊นแห้ง

หมวดตำ
จิ๊นแห้ง คือ เนื้อวัวหรือเนื้อควายตากแห้ง เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำเอาส่วนผสมที่เป็นของที่สุกแล้วลงไปผสมกับเครื่องปรุง จะใช้พริกแกงธรรมดา หรือเครื่องปรุงสำหรับลาบ มาใช้เป็นเครื่องปรุงก็ได้ ส่วนผสมคือ จิ๊นแห้ง ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี ผักชีฝรั่ง น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกงมีพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ เกลือ ข่า ตะไคร้

ตำบ่าตื๋น (ตำกระท้อน)

หมวดตำ
ตำบ่าตื๋น เป็นคำเรียกอาหารล้านนาที่หมายถึง ตำกระท้อน โดยใช้กระท้อนที่มีรสเปรี้ยว นำมาทุบให้นุ่ม ปอกเปลือกแล้วผ่าเป็นชิ้นๆ เครื่องปรุงใช้พริกแห้งสด กระเทียม ปลาร้า น้ำปู เกลือ หรือน้ำปลา วิธีทำคือ โขลกพริกแห้งกับกระเทียม ปลาร้า ใส่กระท้อนลงไป โขลกพอให้เข้ากัน ใส่น้ำปู หากเป็นสูตรดั้งเดิมของล้านนาแท้ๆ จะไม่ชอบหวาน แต่ปัจจุบันนิยมใส่น้ำตาลปี๊บเพื่อให้รสออกหวาน เมื่อตำคลุกเคล้าเข้ากันดี ตักใส่จาน รับประทานแนมกับผักสด เช่น ตูน ใบชะพลู ฯลฯ

ตำบ่าม่วง

หมวดตำ
ตำบ่าม่วง เป็นคำเรียกชื่ออาหารที่ใช้มะม่วงสดมาตำคล้ายตำถั่ว แต่มีเครื่องปรุงแตกต่างกัน วิธีทำ คือ ปอกมะม่วงดิบ ล้างให้สะอาด นำมะม่วงมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ มะม่วงที่ใช้ควรเป็นมะม่วงเปรี้ยวจะให้รสชาติดีเมื่อตำเสร็จ หากเป็นมะม่วงมันจะออกหวานไม่อร่อย จากนั้นนำมะม่วงที่สับมาโขลกพอแหลกแล้วคั้นน้ำที่มีรสเปรี้ยวออกประมาณหนึ่งหรือสองครั้ง แล้วแต่มะม่วงเปรี้ยวจัดหรือเปรี้ยวกลางๆ หากเปรี้ยวจัดให้คั้นน้ำออกจนมีรสเปรี้ยวน้อยลง นำพริกแห้งไปย่างไฟ ปริมาณตามชอบ รสจัดหรือรสกลางๆ เผากะปิ หากใส่ปลาแห้ง ให้ย่างปลาจนสุกกรอบ ปลาแห้งมักใช้ปลาตัวเล็กที่กรอบ รับประทานได้ทั้งตัวไม่ต้องแกะก้างออก ถือเป็นการเพิ่มแคลเซียมได้ดี จากนั้นนำพริกมาโขลกกับกระเทียมสด กะปิ เกลือ ใส่ปลาแห้งลงไปโขลก หรืออาจใช้แคบหมูแทนก็ได้ โขลกจนละเอียดดีแล้ว นำมะม่วงที่คั้นน้ำแล้วมาโขลกเบาๆ พอเข้ากับพริกเครื่องปรุง ปรุงรสด้วยน้ำปลาตามชอบ แต่อย่าให้เค็มจัด ตักใส่จาน โรยด้วยหอมแดงซอย รับประทานแนมกับผักสด เช่น ยอดชะอม ใบชะพลู หรือ ผักลวก เช่น ยอดมันสำปะหลังลวก ยอดขี้เหล็กลวก เป็นต้น (สูตรเดียวกันนี้ใช้ตำมะปรางได้ด้วย)

ตำมะเขือ

หมวดตำ
ตำมะเขือ หรือ ตำบ่าเขือ อ่านว่า ต๋ำบ่าเขือ เป็นตำรับอาหาร ที่มีวิธีการปรุง ที่เรียกว่า ตำ คือการนำเอาส่วนผสม คือมะเขือย่างไฟ แกะเปลือกออก แล้วนำมาโขลกรวมกันเครื่องปรุง รับประทานกับไข่ต้มและใบสะระแหน่ ใบแมงลัก ส่วนผสมคือ มะเขือยาว ไข่ไก่หรือไข่เป็ด สะระแหน่ ใบแมงลัก ต้นหอม พริกชี้ฟ้า กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า ต้นหอม ผักชี

ตำไข่มดแดง

หมวดตำ
ตำไข่มดแดง คือ อาหารอีกชนิดหนึ่งที่มีรสชาติอร่อย การตำไข่มดแดงไม่ได้หมายถึงเอาไข่มดแดงมาโขลกลงในครกให้ละเอียด เพราะจะทำให้สูญเสียความมีคุณค่าและความอร่อยไป วิธีทำ คือ นำไข่มดแดงมาล้างน้ำเบาๆ กรองใส่กระชอนพักไว้ นำหยวกกล้วยอ่อนมาแกะเอาส่วนแกนในประมาณครึ่งกำมือ หากใส่มากจะทำให้มีรสฝาด จากนั้นย่างพริกแห้งให้สุก เผาหอมแดง กระเทียม กะปิเล็กน้อย เกลือ นำมาโขลกรวมกันให้ละเอียด ใส่หยวกอ่อนที่ล้างสะอาดและสับเตรียมไว้ลงโขลกให้เข้ากัน แล้วตักเครื่องปรุงขึ้นมายำคลุกเคล้ากับไข่มดแดง โรยด้วยต้นหอม ผักชีซอย รับประทานได้ (ในท้องถิ่นอื่นอาจเรียกว่า ยำไข่มดแดง)

น้ำพริกกบ

หมวดน้ำพริก
มีลักษณะแห้ง ส่วนผสม คือ กบ พริกแห้ง หรือพริกขี้หนูแห้ง กระเทียม ข่า ดีปลี มะแข่วน มะเขือขื่น เกลือ ผักชี ต้นหอม

น้ำพริกข่า

หมวดน้ำพริก
ส่วนผสม กระเทียม ข่าหั่นเป็นชิ้นเล็ก เกลือ พริกแห้งย่างไฟให้หอม

น้ำพริกตาแดง

หมวดน้ำพริก
อ่านว่า น้ำพิกต๋าแดง ความหมาย คือ เผ็ดจนร้องไห้ตาแดงนั่นเอง บ้างเรียก น้ำพริกแดงเพราะใช้พริกแห้งที่ทำให้สีของน้ำพริกแดงสด เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้นเหนียว มีส่วนผสมหลักคือ พริกแห้ง ปลาร้า ปลาแห้ง บางสูตรไม่นิยมใส่ปลาแห้ง หอมแดง กระเทียม และเกลือ รับประทานพร้อมเครื่องเคียงทั้งผักสด เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ หรือผักลวก ผักนึ่ง เช่น ผักกาด ฟักทอง กระเจี๊ยบ ถั่วพู ถั่วฝักยาว ฯ

น้ำพริกถั่วเน่าแข็บ

หมวดน้ำพริก
คำว่า แข็บ หมายถึง ลักษณะเป็นแผ่นแห้ง หรือ กรอบ เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้นเหนียว มีส่วนผสมหลักคือ พริกแห้ง ถั่วเน่าแข็บ (ถั่วเหลืองต้มเปื่อย ตากแห้งเป็นแผ่น) กระเทียม เกลือ มะนาว เครื่องเคียง ได้แก่ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักกาด ผักสดอื่นตามชอบ

น้ำพริกน้ำผัก

หมวดน้ำพริก
เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้นถึงขลุกขลิก คำว่า น้ำผัก หมายถึงอาหารที่ทำจากผักกาดเขียวแก่ทั้งต้นดองประมาณ ๒ วัน ให้มีรสเปรี้ยว นิยมรับประทานกับแคบหมูและผักขี้หูด มีส่วนผสมดังนี้ ผักกาดเขียว ข้าวนึ่ง น้ำซาวข้าว เกลือเม็ด พริกแห้ง กระเทียม มะแขว่น เกลือป่น ต้นหอม ผักชี

น้ำพริกน้ำอ้อย

หมวดน้ำพริก
ถือเป็นเครื่องจิ้มสำหรับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะขาม มะปราง เป็นต้น บางทีอาจใช้เป็นน้ำจิ้มอาหารปิ้งย่าง ก็ได้ มีส่วนผสม คือ พริกแห้ง กระเทียม น้ำอ้อย ปลาร้า เกลือ

น้ำพริกมะเขือเทศ หรือน้ำพริกบ่าเขือส้ม

หมวดน้ำพริก
คล้ายกับน้ำพริกโจ๊ะ แต่อาจเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้น ใช้มะเขือเทศลูกเล็กเป็นส่วนผสมหลัก และมีส่วนผสมอื่นอีกคือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ปลาร้า เกลือ ต้นหอม ผักชี รับประทานกับแตงกวา ยอดกระถิน กะหล่ำปลีสด หรือลวก

น้ำพริกอ่อง

หมวดน้ำพริก
น้ำพริกอ่อง คำว่า อ่อง หมายถึง เคี่ยวไฟอ่อนจนงวด มีน้ำขลุกขลิก นับเป็นน้ำพริกพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายพอๆ กับน้ำพริกหนุ่ม ลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่อง คือมีสีส้มของมะเขือเทศและพริกแห้งที่เคี่ยวจนเป็นน้ำขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าเล็กน้อย มีสามรส คือ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด เล็กน้อย และรสหวานตาม นิยมรับประทานกับผักสดหรือผักลวกก็ได้ บางสูตร ผัดหมูก่อนแล้วจึงตามด้วยเครื่องปรุงและมะเขือเทศภายหลัง บางสูตร โขลกเนื้อหมู เครื่องปรุงและมะเขือเทศให้เข้ากันก่อน จึงนำไปผัดกับน้ำมัน บางสูตรใส่ถั่วเน่าแข็บหรือใส่เต้าเจี้ยว ในการปรุงรส ส่วนผสมคือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ หมูบด มะเขือเทศลูกเล็ก ต้นหอม ผักชี น้ำมันสำหรับผัด รับประทานกับเครื่องเคียง เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ กะหล่ำปลีสด หรือผักลวก เช่น ผักกาดเขียว มะเขือม่วง ถั่วฝักยาว ถั่วพู เครื่องเคียงอื่น เช่น แคบหมู หนังปอง (หนังควายทอดจนพอง คล้ายแคบหมู)

น้ำพริกแคบหมู

หมวดน้ำพริก
ส่วนผสม แคบหมู พริกสด หอมแดง กระเทียม เกลือ ต้นหอม ผักชี เครื่องเคียง ได้แก่ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักกาด ผักสดอื่นตามชอบ ย่างพริก หอมแดง กระเทียม แล้วแกะเปลือกออก นำมาโขลกรวมกันกับแคบหมูและเกลือ ตักใส่ถ้วยคนให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยต้นหอมผักชีซอย ควรย่างพริก หอมแดง กระเทียมด้วยถ่านไม้ จะทำให้มีกลิ่นหอมและรสชาติดี อีกสูตรหนึ่ง ใช้พริกขี้หนูสดเก็บจากสวน ล้างสะอาดแล้วเด็ดขั้วออก โขลกกับกระเทียม เกลือ กะปิสด หรือ กะปิเผา ใส่แคบหมูกรอบๆ โขลกละเอียดแล้ว ตักใส่ถ้วย บีบมะนาวตามชอบ รสชาติคล้ายน้ำพริกกะปิแต่มีความเข้มข้นหอมมัน ส่วนน้ำพริกแคบหมู

ปลาเค็มอุ๊บ

หมวดอุ๊ก
ส่วนประกอบหลัก คือ ปลาเค็ม หอมแดง หอมขาว พริกแห้ง กะปิ ขมิ้น มะเขือเทศ

ผักกูดจอส้ม (จอน้ำ)

หมวดจอ
ส่วนประกอบหลัก คือ ผักกูด เกลือป่น กระเทียม พริกแห้งคั่ว (ทอด)

ผักบุ้งจอ

หมวดจอ
ส่วนประกอบหลัก คือ ผักบุ้งนา เกลือป่น กระเทียม พริกแห้งคั่ว (ทอด)

ผักหนอกโก้ (ยำใบบัวบก)

หมวดยำ
ส่วนประกอบหลัก คือ ผักหนอก ( ใบบัวบก ) พริกแห้ง กะปิ หอมแดง น้ำมันงา หรือน้ำมันพืช มะเขือเทศ ถั่วลิสงคั่วป่น ถั่วเน่าป่น กุ้งแห้งป่น ปลากะป๋อง ปลาทูนึ่ง แคบหมู

มะม่วงสะนาบ

หมวดยำ
มะม่วงสะนาบ เป็นอาหารที่ทำแบบเดียวกับยำมะม่วง แต่สำหรับในพื้นที่อำเภอ แม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกว่า มะม่วงสะนาบ มีส่วนประกอบหลัก คือ มะม่วงแก้ว หรือมะม่วงตลับนาค หอมแดงซอย กระเทียมแกะ สำหรับทำกระเทียมเจียว กะปิ ละลายน้ำ งาขาว กุ้งแห้ง พริกเม็ดเล็กแห้ง ถั่วลิสง ผงปรุงรส

มะเขืออุ๊บ

หมวดอุ๊ก
ส่วนประกอบหลัก คือ มะเขือยาว มะเขือม่วง มะเขือหวาน (อย่างใดอย่างหนึ่ง) หมูสามชั้น น้ำมัน กะปิ กระเทียม หอมแดง ขมิ้น พริกแห้ง มะเขือเทศ มะสะหล่า เกลือ เครื่องปรุงรส

ยำจิ๊นไก่

หมวดยำ
ยำจิ๊นไก่ หมายถึง การนำไก่ไปต้มแล้วนำมายำคลุกเคล้ากับน้ำพริกลาบ หรือ น้ำพริกที่ปรุงเช่นเดียวกับลาบ มีเครื่องเทศเป็นส่วนประกอบ ข้อสำคัญ ยำจิ๊นไก่ ต้องย่างพริกแห้งให้สุกเกรียมจนมีสีเกือบดำถึงจะให้รสชาติอร่อย มีกลิ่นพริกหอม

ยำน้ำโจ้

หมวดยำ
น้ำโจ้ หมายถึง ข้าวที่ได้จากการหุงเหล้า โดยนำเศษข้าวที่หมักเหล้ามายำใส่กล้วยดิบ (กล้วยคล้าว) มะละกอห่ามๆ เม็ดแมงลัก ใส่พริกแห้งเผาไฟ ข่า เกลือ ปลาร้าโขลกละเอียดแล้วนำมายำคลุกเคล้ากับน้ำโจ้ รับประทานยามบ่ายๆ ช่วยให้สดชื่นมีกำลัง แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจมีอาการเมา

ยำบ่าถั่วบ่าเขือ

หมวดยำ
ยำบ่าถั่วบ่าเขือ หรือยำถั่วฝักยาวกับมะเขือยาว หรือมะเขือม่วง ส่วนผสมคือ ถั่วฝักยาว มะเขือยาวหรือมะเขือม่วง หมูสับ กระเทียมเจียว ผักชี ต้นหอม น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า กะปิ ปลาร้าสับ

ยำปลาฟัก

หมวดยำ
คำว่า “ฟัก” ในที่นี้ หมายถึง การสับให้ละเอียด การทำปลาฟักมักใช้ปลาหมอ (สูตรของจังหวัดลำปาง) ขอดเกล็ดให้เกลี้ยง ควักไส้ ล้างให้สะอาด นำมาสับให้ละเอียด ใส่กระเทียม ข้าวเหนียวสุก เกลือ แล้วนำใส่ในกระออมหรือกระบอกไม้ไผ่ปิดฝาให้แน่นทิ้งไว้ประมาณเจ็ดวัน สามารถนำมารับประทานได้ บางคนอาจรับประทานสดๆ หรือบางคนอาจนำไปทำให้สุกด้วยการคั่ว ใส่พริกแห้งเผา หอมแดงซอย ตะไคร้หั่นฝอย

ยำปลาส้ม

หมวดยำ
ปลาส้ม หมายถึง ปลาที่หมักด้วยข้าวเหนียวสุก กระเทียม เกลือ โดยปลาที่สามารถนำมาทำปลาส้ม เช่น ปลาตะเพียนขาว เป็นต้น แต่ในจังหวัดพะเยา อาจใช้ปลาอื่น ๆ ที่จับได้ในกว๊านพะเยาว ที่มีเนื้อมากกว่าปลาตะเพียน และปลาส้ม ก็เป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา การทำปลาส้ม มีวิธีการคือ นำปลาตะเพียนขาวสดมาควักท้องล้างให้สะอาด หากตัวเล็กใช้มีดทุบให้นุ่ม หากตัวใหญ่อาจหั่นเป็นท่อนๆ ก่อนทุบให้นุ่ม แล้วนำไปหมักกับเกลือ กระเทียม ข้าวเหนียวสุก ปิดฝาภาชนะหมักไว้ประมาณเจ็ดวัน ปลาจะมีรสเปรี้ยว จึงเรียกว่า “ปลาส้ม”

ยำปลาแห้ง

หมวดยำ
ยำปลาแห้ง ส่วนผสม ปลาช่อนตากแห้ง หรือปลาเนื้ออ่อนตากแห้ง ตะไคร้ ต้นหอม ผักชี ผักไผ่ เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า กะปิ เกลือ

ยำผักจุ๋มป๋า

หมวดยำ
ยำผักจุ๋มป๋า หรือ ผักกาดนา เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ในนาข้าว มีรสขมเล็กน้อย นิยมนำมาจิ้มน้ำพริก หรือนำมายำ มีส่วนผสม คือ ผักจุ๋มป๋า หมูสับ ข่า ผักชี ต้นหอม กระเทียมเจียว น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า กะปิ ปลาร้า

ยำผักเฮือด

หมวดยำ
ยำผักเฮือด เป็นคำเรียกชื่ออาหารอีกชนิดหนึ่ง ผักเฮือด เป็นพืชยืนต้น ชาวล้านนามักตอนกิ่ง ตัดยอดไม่ให้ต้นสูง และให้ผักแตกยอดอ่อนเพื่อจะเก็บมาทำอาหารได้สะดวก รสชาติของผักเฮือดจะออกฝาดเล็กน้อย จึงมีสูตรการปรุงที่จะต้องแก้ความฝาดด้วยมะเขือเทศ

ยำสะนัด

หมวดยำ
ยำสะนัด เป็นการนำผักหลายๆ อย่าง ลวกหรือนึ่งมายำรวมกัน แล้วนำมาปรุงกับเครื่องปรุง เช่นเดียวกับยำถั่วฝักยาวและมะเขือยาว มีส่วนผสมคือ ถั่วฝักยาว มะเขือยาวหรือมะเขือม่วง ถั่วแปบ มะเขือพวง ผักบุ้ง หัวปลี บางสูตรใส่ผักชะอม กระถิน หมูสับ กระเทียมเจียว ผักชี ต้นหอม น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า กะปิ ปลาร้าสับ

ยำฮก

หมวดยำ
ฮก หมายถึง รกควายที่เพิ่งออกลูกใหม่ๆ เป็นอาหารรสเลิศอีกชนิดหนึ่งของล้านนา โดยนำไปยำ ซึ่งมีวิธีการทำคล้ายกับทำลาบควายแต่จะต้มให้สุกก่อน

ยำเห็ดฟาง

หมวดยำ
ยำเห็ดฟาง หรือยำเห็ดเฟือง เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำเอาส่วนผสมที่เป็นของที่สุกแล้ว ลงไปผสมกับเครื่องปรุง มีวิธีการปรุงเช่นเดียวกับยำจิ๊นไก่ หรือจะใช้พริกลาบ หรือเครื่องปรุงลาบ มาเป็นเครื่องปรุงก็ได้ ส่วนผสมคือ เห็ดฟาง ตะไคร้ ผักไผ่ สะระแหน่ ผักชี ต้นหอม หอมแดง บางสูตรใส่ข้าวคั่ว เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ ข่า เกลือ

ลาบควาย

หมวดลาบ
วัตถุดิบ เนื้อควาย (เนื้อสันนอกหรือสันใน) เครื่องใน ผ้าขี้ริ้ว (ย่อ) กระเพาะ (คันนาหรือต๋าสับปะรด) ตับ (อย่าลืมดี กับเพลี้ยหัวดี) เลือดก้อน เครื่องปรุงที่ใช้ดิบ ข่า ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง (หัวสีเหลือง) ขีดกะปิ ส่วนสูตรของจังหวัดลำปางจะเผาหอมแดง และนำกะปิไปย่างไฟจะทำให้มีกลิ่นหอมยิ่งขึ้น เครื่องเทศที่แห้งนำมาคั่วให้พอมีกลิ่นหอมและป่นหรือโขลกตำให้ละเอียด

ลาบปลาน้ำโขง

หมวดลาบ
ลาบปลาน้ำโขง (ปลาหนัง) เป็นอาหารประจำถิ่นอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนประกอบได้แก่ ปลาบึก ข่า หอมแดง กระเทียม ผักไผ่ ต้นหอม ผักชี ส่วนน้ำพริกลาบ มีพริกแห้ง มะแขว่น เมล็ดผักชี เมล็ดยี่หร่า

ลาบหมู

หมวดลาบ
วัตถุดิบ เนื้อหมู (เนื้อสันนอกหรือสันใน) เครื่องในหมู เช่น ตับ ไต (มะแกว หรือเซี่ยงจี้) ไส้หวาน หนังหมู กระเพาะ ม้าม มันคอ เลือดหมู (เลือดก้อน) เครื่องปรุงที่ใช้นำมาคั่วให้มีกลิ่นหอม ข่า ตะไคร้ กระเทียม หอมแดง (หัวสีเหลือง) กะปิ (ห่อใบตองแล้วปิ้งให้พอหอม) เครื่องเทศที่ใช้แห้งมาคั่วให้พอมีกลิ่นหอมและป่นหรือโขลกตำให้ละเอียด

ส้ามะเขือ

หมวดส้า
ใช้ได้ทั้งมะเขือเปราะ และมะเขือขื่นที่แก่จัด ถ้าเป็นมะเขือเปราะจะต้องซอยแช่น้ำเกลือ หลังจากนั้นนำมาคลุกเคล้ากับเครื่องแกงที่ผัดกับหมูสับ ส่วนผสมคือ มะเขือเปราะ เนื้อหมูบด หอมแดงซอย กระเทียมสับ ผักชี ต้นหอม น้ำมันสำหรับผัด ส่วนมะเขือขื่นเมื่อซอยบางๆ แล้วนำไปโขลกเบา ๆ เพื่อคั้นน้ำที่มีรสขื่นออก ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วบีบมะนาวใส่พักไว้ให้กรอบ เครื่องแกงมีพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ ปล้าร้าต้มสุก

หมาก-ลางต๋ำ (ตำขนุน)

หมวดตำ
มีส่วนประกอบหลัก คือ ขนุนดิบ ข่า หอมแดง กระเทียม กะปิ พริกแห้ง ต้นหอม ผักชี เกลือป่น น้ำมันพืช

หลามบอน

หมวดหลาม
หลามบอน หรือ แกงบอน บางท้องที่ เช่น อำเภอแม่แจ่ม หมายถึง แกงบอนที่เอาไปใส่กระบอกไม้ไผ่ดิบ แล้วนำไปย่างถ่านไม้ เหมือนข้าวหลาม ไม่ผัดเครื่องแกงกับน้ำมันพืช การเรียกแกงบอน บางคนถือเคล็ด ให้เรียกว่า แกงผักหวาน เพราะกลัวว่าจะทำให้คันปาก บางตำรับ ก่อนนำบอนมาแกง จะแขวนผึ่งลมไว้ ๑ คืน ก่อนที่จะนำมาแกง มีส่วนผสมคือ บอนต้นอ่อน หูหมู หรือใช้เท้าหมู (คากิ) น้ำมะขามเปียก ข่าหั่น ตะไคร้ กระเทียม ใบมะกรูด กระเทียมเจียว น้ำมันสำหรับเจียวและผัด มีเครื่องแกง คือ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ซอย กะปิ ปลาร้าต้มสุก เกลือ

ห่อนึ่งปลามง

หมวดนึ่ง
ห่อนึ่งปลามง มีเครื่องประกอบด้วย ปลามง ซึ่งเป็นปลาแม่น้ำโขง เป็นอาหารประจำถิ่นของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พร้อมเครื่องในและไข่ปลา ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเทียม หอมแดง พริกแห้ง กะปิ เกลือ นำเครื่องปรุงทุกอย่างโขลกให้เข้ากันแล้วนำมาคลุกกับปลา เครื่องใน และไข่ไก่ให้ส่วนผสมเข้ากัน ซอยต้นหอม ผักชีใส่ แล้วนำไปห่อด้วยใบตอง นำไปนึ่งจนสุก

ห่อนึ่งไก

หมวดนึ่ง
ห่อนึ่งไก เป็นคำเรียกชื่ออาหารประจำถิ่นของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หรืออีกแหล่งหนึ่งที่มีไก คือ จังหวัดน่าน ความจริงเป็นอาหารของชาวไทลื้อ ซึ่งอาศัยอยู่ทั้งที่อำเภอเชียงของและจังหวัดน่าน ไก เป็นสาหร่ายน้ำจืดที่ขึ้นในน้ำใสสะอาด น้ำนิ่ง ในจังหวัดน่านจะหาได้ที่ อำเภอบ่อเกลือ และอำเภอท่าวังผา ส่วนแหล่งอื่นที่น้ำสกปรกจะไม่มีไกขึ้น ในปีหนึ่งอาจเก็บไกได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน- พฤษภาคม ชาวไทลื้อมักเก็บมาตากแห้ง หรือเก็บไกสดๆ มาทำห่อนึ่งก็ได้ โดยมีส่วนประกอบ คือ ไกแม่น้ำโขง หรือ ไกน้ำน่าน ที่ยังไม่ได้ตากแห้ง หมูบด พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ใบมะกรูด มีวิธีทำง่ายๆ คือ ล้างไกให้สะอาด นำหมูกับไกมารวนพอสุกแล้วคลุกเคล้ากับเครื่องแกงที่โขลกละเอียด จากนั้น นำมาห่อใบตองแล้วนึ่งประมาณ ๒๐ นาที พอสุกแล้วนำมารับประทานได้

ห่อนึ่งไก่

หมวดนึ่ง
ส่วนผสม เนื้อไก่บ้าน ข้าวคั่ว ใบมะกรูด ผักชีซอย ต้นหอมซอย ใบยอ ผักกาดเขียว หรือผักกาดขาว น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกง คือ พริกแห้ง ข่าหั่น ตะไคร้ซอย ขมิ้น หอมแดง กระเทียม กะปิ เกลือ

อุ๊กไก่

หมวดอุ๊ก
มีส่วนผสมคือเนื้อไก่บ้าน ใบมะกรูด ข่าหั่น ผักชีซอย ต้นหอมซอย ผักชีฝรั่งซอย น้ำมัน เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ ตะไคร้ซอย ข่าหั่น ขมิ้น เกลือ

อุ๊บเครื่องในหมู

หมวดอุ๊ก
ส่วนประกอบหลัก คือ ใช้เครื่องในหมู หรือตับ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง กระเทียม พริกแห้งเม็ดใหญ่ป่น มะเขือเทศ กะปิ เครื่องปรุงรส เกลือ ขมิ้น น้ำมันพืช

เจียวไก

หมวดเจี๋ยว
เจียวไก เป็นคำเรียกชื่ออาหารของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีส่วนประกอบคือ ไกน้ำโขง หมูบด เกลือ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ใบมะกรูดหั่นฝอย ข่าอ่อนสับละเอียด

เนื้อส้มอุ่น

หมวดนึ่ง
เนื้อส้มอุ่น เป็นคำเรียกชื่ออาหารในอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในล้านนาทั่วไปเรียกว่า “ข้าวกั๊นจิ๊น” จัดเป็นอาหารประเภทนึ่งอีกชนิดหนึ่ง ในสูตรดั้งเดิมรับประทานโดยคลุกข้าวสุกร้อนๆ กับเลือดสดๆ แต่ปัจจุบันนิยมนำไปนึ่งให้สุกหลังคลุกกับเลือดและปรุงรสแล้ว ส่วนประกอบหลัก คือ ข้าวสวย เลือดหมูสด เกลือป่น น้ำตาลทราย หมูแดงสับให้ละเอียด พริกแห้งทอด ต้นหอม ผักชี กระเทียมเจียว

แกงขนุน

หมวดแกง
แกงขนุน เป็นแกงที่ชาวล้านนานิยมกันทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง วันที่ถัดจากวันพญาวัน ถือเป็น “วันปากปี” คือเริ่มต้นปีใหม่วันแรก ชาวล้านนาจะนิยมทำแกงขนุนรับประทานกัน นัยว่าเป็นการเอาเคล็ดให้มีแต่บุญวาสนาหนุนส่งให้ได้พบแต่สิ่งดี ๆ ไปตลอดทั้งปี

แกงบ่าแต๋งใส่จิ๊นควาย

หมวดแกง
ส่วนผสม บ่าแต๋ง หรือแตง ใช้แตงไทย ล้านนาเรียก บ่าแต๋งลาย ลูกอ่อนถึงกลาง เนื้อควาย ต้นหอม ผักชี เครื่องแกงใช้ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ พริกไทยเม็ด เกลือ

แกงผักกาดหน้อยใส่ถั่วฝักยาว/ ใส่ผักชีลาว

หมวดแกง
แกงผักกาดหน้อย หมายถึง ผักกาดอ่อนที่ใบขนาด ๒-๔ เซนติเมตร ใส่ถั่วฝักยาว ใส่ผักชีลาว หรือใส่ผักโขมแดงอ่อน ใส่ผักขี้หูดอย่างละนิดอย่างละหน่อยบางท้องถิ่นเรียกแกงชนิดนี้ว่า “แกงผักอะหยิอะเหยาะ” ซึ่งหมายถึง แกงผักหลากหลายชนิด (เฉพาะผักที่กล่าวมาอย่างละนิดอย่างละหน่อยนั่นเอง) แกงชนิดนี้อาจใส่ถั่วเน่า และปลาแห้ง หรือหัวปลาชะโดแห้งด้วยก็ได้

แกงผักกาดใส่ไก่

หมวดแกง
ส่วนผสม ผักกาดเขียว (ผักกวางตุ้ง) หรือ ล้านนาเรียก ผักกาดจ้อน คำว่า จ้อน หมายถึง กำลังผลิดอก เนื้อไก่ บ่าแขว่น (กำจัด) เครื่องแกงมีพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า

แกงผักขี้หูด (ผักเปิ๊ก) ใส่ปลาแห้ง

หมวดแกง
ผักขี้หูด หรือในเชียงใหม่เรียกว่าผักเปิ๊ก เป็นผักที่มีรสชาติเผ็ดนิดๆ ใช้กินสดแกล้มกับลาบ หรือยำต่างๆ ที่มีรสหวานอร่อย แต่จะเอามาทำแกงใส่ปลาแห้ง ใส่เห็ดลมอ่อนด้วยยิ่งอร่อย

แกงผักมะไห่

หมวดแกง
แกงผักมะไห่หรือผักบ่าไห่ คือ ยอดมะระชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำยอดมาแกงได้ อาจแกงใส่ปลาแห้ง หรือ หมูย่างก็ได้

แกงผักหละ (ชะอม) ใส่เห็ดและบ่าถั่ว (ถั่วฝักยาว)

หมวดแกง
ยอดชะอมใช้ทำอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งใส่แกงหน่อไม้สด แกงแค เจียวกับไข่ และนำมาแกง โดยเฉพาะ แกงชะอมใส่เห็ดฟางและถั่วฝักยาว หรือใส่เห็ดหูหนูลงไปเล็กน้อยก็ยิ่งดี

แกงผักหวาน

หมวดแกง
มี ๒ ตำรับ คือ แกงผักหวานป่า และแกงผักหวานบ้าน นิยมแกงใส่ไข่มดแดง ซึ่งเป็นฤดูที่ผักหวานป่าผลิยอดในช่วง เดือนมีนาคม - มิถุนายน และเป็นช่วงเดียวกับมดแดงออกไข่ การแกงผักหวาน จะใส่ได้ทั้งปลาย่างสด และปลาแห้งก็ได้ ใส่วุ้นเส้น ถ้าชอบมะเขือเทศก็ใส่ลงไปได้ ส่วนผสม คือ ผักหวานป่า วุ้นเส้น ปลาแห้ง เครื่องแกงมี พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ เกลือ

แกงผักเซียงดา

หมวดแกง
แกงผักเซียงดาหรือแกงผักเซงดา มีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงผักหวานบ้าน และแกงผักหวานป่า แต่ไม่ใส่วุ้นเส้น นิยมใส่ปลาย่าง หรือปลาแห้ง บางสูตรแกงร่วมกับผักเสี้ยว (ยอดชงโค) และผักชะอม หรือร่วมกับผักชะอมอย่างเดียว หรือแกงร่วมกับผักฮ้วนหมู (ใบใหญ่กว่าผักเซียงดา มีรสขมเล็กน้อย) และมะเขือเทศลูกเล็ก เครื่องแกงมีพริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ เกลือ บางแห่งใส่ปลาร้าเพิ่มลงไปด้วย

แกงฟักหม่นใส่ไก่

หมวดแกง
แกงฟักหม่นหรือฟักเขียวใส่ไก่ เป็นอาหารที่นิยมทำในงานบุญ หรืองานที่เป็นมงคล เพราะชื่อฟักมีความหมายแสดงถึงความฟูมฟัก คือฟูมฟักสิ่งดีๆ อาทิ ความรัก ความสมัครสมานสามัคคี ความมีน้ำใจร่วมไม้ร่วมมือช่วยเหลือกันของเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการสร้างบ้านเรือน สมัยโบราณมักจะใช้วิธีไหว้วานเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันโดยไม่มีการจ้าง จึงมีการแกงฟักใส่ไก่เลี้ยงผู้มาช่วยงาน

แกงยอดต๋าว

หมวดแกง
มีส่วนประกอบคือ ยอดต๋าว เนื้อหมู น้ำพริกแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงสะแล

หมวดแกง
เป็นคำเรียกชื่ออาหารอีกชนิดหนึ่ง สะแลเป็นพืชไม้เลื้อย เครือเถาใหญ่ ใช้ส่วนของดอกมาทำแกง จึงเรียกว่า แกงสะแล โดยแกงใส่ซี่โครงหมู หรือ หมูสามชั้น ใส่มะขามเปียก หรือ มะเขือเทศลูกเล็กให้มีรสเปรี้ยวเล็กน้อยเพื่อกำจัดรสฝาดนิดๆ ของดอกสะแล

แกงส้มดอกแคใส่ปลา

หมวดแกง
ดอกแคสีขาวมีรสหวานอมขมนิด ๆ คนล้านนานิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะนำมาลวกจิ้มน้ำพริก ใส่แกงแค หรือนำมาทำแกงส้มก็อร่อยไปอีกแบบ

แกงส้มมะละกอ

หมวดแกง
มะละกอ เป็นได้ทั้งผลไม้และอาหารประเภทพืชผัก สามารถบริโภคขณะดิบได้ คือ นำไปทำส้มตำที่ทำทานกันทุกภาคของไทย แต่สูตรอาจแตกต่างกันไป การนำมะละกอดิบมาทำแกงส้มนี้คงต้องบันทึกไว้ เพราะคนปัจจุบันอาจไม่ค่อยได้ทำทานกัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตอาจจะไม่มีใครรู้ว่า มะละกอก็สามารถนำมาทำแกงส้มได้แสนอร่อย ไม่แพ้แกงส้มผักอื่นๆ

แกงหน่อไม้ดอง (หน่อไม้ส้ม หน่อส้ม)

หมวดแกง
แกงหน่อไม้ดองหรือหน่อไม่ส้มถ้าจะให้อร่อย ควรใช้หน่อไม้ที่ดองไม่นานนัก และยังกรอบ ไม่อ่อนเกินไป

แกงหยวกใส่ไก่, ใส่ปลาแห้ง, ใส่วุ้นเส้น

หมวดแกง
หยวกกล้วยอ่อนๆ นำมาแกงใส่เนื้อไก่ หรือปลาแห้ง และวุ้นเส้น เป็นอาหารแสนอร่อยอย่างหนึ่งของชาวล้านนา การเลือกหยวกกล้วย เลือกจากต้นขนาดกลาง แล้วตัดเอาส่วนต้นๆ และเปลือกนอกออกจนเหลือแต่เนื้อในที่อ่อนนุ่ม

แกงหัวปลี

หมวดแกง
แกงหัวปลี เป็นแกงที่นิยมทำรับประทานกันทั่วไปในกลุ่มชาวล้านนา เพราะหัวปลีเป็นของหาง่าย โดยทุกบ้านมักจะปลูกกล้วยไว้ที่หน้าบ้านหรือหลังบ้าน และกล้วยมักจะมีลูกออกตลอดทั้งปี หากกล้วยตกปลีออกจนสุดเครือแล้ว หัวปลีที่หมดลูกจะต้องถูกตัดออก ไม่อย่างนั้นกล้วยจะลูกเล็กไม่อวบอ้วน เพราะน้ำถูกแย่งไปเลี้ยงหัวปลีหมด ซึ่งถือเป็นสิ่งไร้ประโยชน์สำหรับต้นกล้วย แต่หัวปลี กลับมีประโยชน์ต่อคน เพราะสามารถนำไปประกอบอาหารให้เอร็ดอร่อยได้

แกงหัวมันแกว

หมวดแกง
เป็นอาหารของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีส่วนประกอบคือ หัวมันแกว เนื้อหมู น้ำพริกแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงหางหวาย

หมวดแกง
มีส่วนประกอบ คือ หางหวาย เนื้อหมู พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ตะไคร้ กะปิ ใบมะกรูด ดอกข่า ดอกต้าง จะค่าน (สะค้าน) ชะอม ผักแค

แกงอ่อมปลา

หมวดอ่อม
ถือเป็นอาหารชั้นดีอีกชนิดหนึ่งของชาวล้านนา แตกต่างจากแกงอ่อมเนื้อสัตว์ชนิดอื่น คือปรุงรสด้วยน้ำมะนาว แต่ไม่นิยมทำเป็นอาหารเลี้ยงแขกในเทศกาลงานพิธีต่างๆ เหมือนแกงอ่อมเนื้อสัตว์อื่นๆ ส่วนผสมคือ ปลาช่อน ข่าอ่อนซอย ตะไคร้หั่น ใบมะกรูดฉีก มะนาว ผักชีฝรั่งหั่นหยาบ ผักชี ต้นหอม น้ำมันสำหรับผัดเครื่องแกง โดยใช้พริกแห้ง พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ข่าซอย ขมิ้น เกลือ กะปิหยาบ

แกงอ่อมหมู

หมวดอ่อม
นิยมใช้เนื้อหมูและเครื่องในหมูเป็นส่วนผสมหลัก บ้างใช้แต่เครื่องใน เรียก แกงอ่อมเครื่องในหมู มีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงเนื้อสัตว์อื่นๆ นิยมใช้เลี้ยงแขกในเทศกาลงานเลี้ยงต่างๆ ส่วนผสมคือ เนื้อหมูและเครื่องในหมู ข่าอ่อนซอย ตะไคร้ซอย ใบมะกรูดฉีก รากผักชี ผักชีฝรั่งหั่นหยาบ ผักชีซอย ต้นหอมซอย น้ำมันสำหรับผัดเครื่องแกง โดยใช้พริกแห้ง พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ข่าซอย ขมิ้น เกลือ กะปิหยาบ

แกงอ่อมเนื้อ

หมวดอ่อม
นิยมใช้เนื้อวัวและเครื่องในวัว เป็นส่วนผสมหลัก บ้างใช้เนื้อควายและเครื่องในควายเป็นส่วนผสม บ้างใช้แต่เครื่องใน เรียกชื่อตามเนื้อที่นำมาแกง เช่น แกงอ่อมเครื่องในวัว แกงอ่อมเครื่องในหมู แกงอ่อมเครื่องในควาย มีวิธีการแกงเช่นเดียวกับแกงเนื้อสัตว์อื่นๆ ส่วนผสม เนื้อวัวและเครื่องในวัว น้ำเพลี้ย ข่าอ่อนซอย ตะไคร้ซอย ใบมะกรูดฉีก รากผักชี ผักชีฝรั่งหั่นหยาบ ผักชีซอย ต้นหอมซอย น้ำมันสำหรับผัดเครื่องแกง โดยเครื่องแกงมีพริกแห้ง พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ข่าซอย ขมิ้น เกลือ กะปิหยาบ

แกงอ่อมไก่

หมวดอ่อม
ส่วนผสม เนื้อไก่บ้าน ข่าอ่อนซอย ตะไคร้ซอย ใบมะกรูด รากผักชี ใบอ่อนเล็บครุฑ ผักชีฝรั่งหั่นหยาบ ผักชี ต้นหอม น้ำมันสำหรับผัดเครื่องแกง เครื่องแกง พริกแห้ง พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ข่าซอย ขมิ้น เกลือ กะปิหยาบ

แกงฮังเล

หมวดแกง
แกงฮังเล เป็นแกงประเภทน้ำขลุกขลิก รสชาติหวานอมเปรี้ยว ใช้หมูสามชั้นเป็นส่วนประกอบหลัก บางท้องถิ่นใช้เนื้อ (วัว ควาย) หั่นเป็นชิ้นๆ ผสมกับเนื้อหมู คำว่า ฮังเล สันนิษฐานว่าเป็นคำในภาษาพม่า ซึ่งพ้องกับชื่อเมืองหนึ่งในประเทศเมียนมาร์ คือ เมืองอินเลความหมายของคำว่า ฮังเล มาจากคำว่า ฮัง หรือ ฮิน แปลว่า แกง ส่วนคำว่า เล แปลว่า เนื้อ ดังนั้น ฮังเล จึงแปลว่า แกงเนื้อ โดยชาวล้านนารับวัฒนธรรมอาหารประเภทนี้มาจากพม่า ลักษณะสีสันและรสชาติก็คล้ายกับแกงกะหรี่ของพม่าที่มีน้ำแกงเข้มข้นรสหวานอมเปรี้ยวลงตัว ใช้รับประทานกับโรตีทอดกรอบที่ไม่ปรุงรส

แกงเหมือน

หมวดแกง
ล้านนาเรียก แกงอ่อมเนื้อชาโดว์ (เนื้อสุนัข) ใช้เนื้อสุนัข เป็นส่วนผสมหลัก

แกงเห็ดตับเต่า

หมวดแกง
หรือล้านนาเรียกเห็ดห้า เป็นแกงที่ใช้พริกแห้ง หรือพริกสดเป็นเครื่องปรุงก็ได้ และใส่ยอดเม่า หรือยอดมะขาม ก็ได้ แล้วแต่ชอบ มีรสชาติอร่อยทั้ง ๒ ตำรับ หรือว่าจะนำเห็ดตับเต่าแกงกับยอดฟักทอง แล้วใส่ใบแมงลัก ก็เป็นตำรับแกงเห็ดตับเต่าอีกตำรับหนึ่ง ส่วนผสม เห็ดตับเต่า ซี่โครงหมู หรือหมูบด ยอดเม่า เครื่องแกงมีพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิหยาบ เกลือ

แกงเห็ดถอบ

หมวดแกง
แกงเห็ดถอบ หรือ แกงเห็ดเผาะ เป็นแกงพื้นบ้านของทางภาคเหนือที่นิยมทำกันมาก เพราะมีรสชาติอร่อย กรอบ เครื่องปรุงประกอบด้วย เห็ดถอบ เนื้อหมูสามชั้น ยอดมะขาม พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า เกลือ

แกงเห็ดถั่วเหลือง

หมวดแกง
มีส่วนประกอบคือ เห็ดถั่วเหลือง เนื้อหมู เครื่องแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงเห็ดปีด

หมวดแกง
มีส่วนประกอบคือ เห็ดปีด น้ำพริกแกง ได้แก่ พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง เกลือ ข่า ตะไคร้ กะปิ

แกงเห็ดลม

หมวดแกง
เห็ดลม หมายถึง เห็ดชนิดหนึ่งของล้านนา มีลักษณะดอกบางแต่เหนียว มีสีน้ำตาลเหมือนเปลือกไม้ มักรับประทานขณะยังอ่อนเพราะไม่เหนียวเกินไป นิยมแกงใส่ชะอม หรือถั่วฝักยาว และใบชะพลูลงไปด้วย บางที่ใส่ปลาแห้ง ทำให้น้ำแกงมีรสชาติกลมกล่อม สำหรับสูตรนี้ ใส่ข่าและตะไคร้เป็นเครื่องแกง เพิ่มกลิ่นหอมของแกงด้วย ส่วนผสมคือ เห็ดลมอ่อน ชะอมเด็ด ใบชะพลูหั่นหยาบ เครื่องแกงมี พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ข่าหั่น ตะไคร้หั่น กะปิ ปลาร้าต้มสุก เกลือ

แกงแค

หมวดแกง
แกงแคเป็นอาหารที่มีผักต่างๆ เป็นส่วนประกอบหลากหลายชนิด โดยเฉพาะผักที่ได้จากสวนครัวหรือริมรั้ว เช่น ผักตำลึง ผักชะอม ดอกแค ถั่วฝักยาว มะเขือขื่น มะเขือพวง พริกขี้หนู ใบพริก ผักเผ็ด ผักปราบ รวมทั้งเห็ดลมอ่อน ตูน ยอดมะพร้าวอ่อน โดยอาจมีเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแกง อาทิ เนื้อไก่ นก หมู ส่วนเครื่องแกงประกอบด้วย พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ข่า ตะไคร้ กะปิ หรือปลาร้า

แมงมันจ่อม

หมวดจ่อม
แมงมัน คือ สัตว์คล้ายมด อาศัยอยู่ในโพรงใต้ดิน ในฤดูแล้งจะวางไข่ ซึ่งมีขนาดเล็กไปจนถึงใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย นอกจากคนล้านนาจะนิยมรับประทานตัวนางพญาของแมงมันที่มีปีก ลำตัวสีแดงกล่ำแล้ว ยังนิยมรับประทานไข่ของแมงมันอีกด้วย โดยอาจนำมาใส่แกงผักกาด หรือนำมาทำ แมงมันจ่อม

แอ็บปลาดุก

หมวดแอ็บ
แอ็บปลาดุก ใช้ปลาดุกนา มีเครื่องปรุง คือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ขมิ้นหั่น กะปิแกง เกลือ

แอ็บปลาหน้อย

หมวดแอ็บ
แอ็บปลาหน้อย ใช้ปลาตะเพียนขาว หรือปลาซิว อาจมีกุ้งฝอยด้วย มีเครื่องปรุง คือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ขมิ้นหั่น กะปิแกง เกลือ

แอ็บหมู

หมวดแอ็บ
แอ็บหมู คืออาหารที่ปรุงด้วยการนำเนื้อหมูสด นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง แล้วห่อด้วยใบตอง เช่นเดียวกับแอ็บอ่องออ แอ็บปลา ทำให้สุกโดยปิ้งหรือย่าง ด้วยไฟอ่อนๆ จนข้างในสุก มีส่วนผสมคือ หมูบดติดมันเล็กน้อย ใบมะกรูดซอย ผักชี ต้นหอมซอย ไข่ไก่ มีเครื่องปรุง คือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ขมิ้นหั่น ข่าหั่น กะปิ เกลือ

แอ็บอ่องออ

หมวดแอ็บ
แอ็บอ่องออ หรือแอ็บสมองหมู คือ อาหารที่ปรุงด้วยการนำสมองหมูสด นำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง แล้วห่อด้วยใบตอง เช่นเดียวกับแอ็บหมู แอ็บปลา ทำให้สุกโดยปิ้งหรือย่าง ด้วยไฟอ่อนๆ จนข้างในสุก ส่วนผสมคือ สมองหมู ใบมะกรูดซอย ผักชีซอย ต้นหอมซอย มีเครื่องปรุง คือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ตะไคร้ซอย ขมิ้นหั่น ข่าหั่น กะปิ เกลือ

โสะบ่าเฟือง (มะเฟือง)

หมวดโสะ
มะเฟืองที่นิยมนำมาโสะ คือ มะเฟืองที่มีรสเปรี้ยว อาจโสะใส่น้ำปูด้วยก็ได้ หรือใส่เฉพาะปลาร้าก็ได้แล้วแต่ชอบ

โสะบ่าโอ (ส้มโอ)

หมวดโสะ
ส้มโอในภาคเหนือ ส่วนใหญ่มีรสเปรี้ยวเพราะสภาพภูมิอากาศและดินทำให้ส้มโอมีรสไม่หวาน หรือออกรสอมเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งส้มโอที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือคือ ส้มโอลำปาง มีทั้งเนื้อในสีแดง และสีน้ำผึ้ง มีรสชาติดี เช่นเดียวกับส้มเช้ง หรือ ที่คนท้องถิ่นในจังหวัดลำปางเรียกว่า “บ่าเกลี้ยง” หรือส้มเกลี้ยง ซึ่งเป็นส้มที่มีรสชาติอร่อยขึ้นชื่อของลำปาง ในสมัยก่อน อำเภอเถิน เป็นถิ่นที่มีส้มเกลี้ยงรสชาติดีที่สุด จนมีคำกล่าวที่รู้จักกันดีว่า “ส้มเกลี้ยงเมืองเถิน” ซึ่งมีเนื้อในสีน้ำผึ้งฉ่ำ รสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน เหมาะแก่ผู้ที่ป่วยไข้เบื่ออาหาร ญาติๆ มักหาส้มเกลี้ยงมา “โสะ” ให้รับประทานจะช่วยให้สดชื่น หายไข้ได้เร็ว ทั้งนี้คงเป็นเพราะส้มเกลี้ยงอุดมด้วยวิตามินซีนั่นเอง

ไข่อุ๊บ

หมวดอุ๊ก
ส่วนประกอบหลัก คือ ไข่ต้มสุกแกะเปลือกสิบฟอง หอมแดง พริกแห้งเม็ดใหญ่ กะปิ ขมิ้นผง มะเขือเทศ น้ำมันพืช ผงมะสะหล่า (ผงกะหรี่) ผักชี

ไส้อั่ว

หมวดปิ้ง
ไส้อั่ว จัดเป็นอาหารอีกชนิดหนึ่งที่ขึ้นชื่อของล้านนาอาจจัดอยู่ในหมวดของ ปิ้ง หรือ ย่างด้วย ซึ่งคำว่า อั่ว หมายถึง การนำเครื่องปรุงและส่วนประกอบอาหารสอดเข้าไว้ข้างใน ซึ่งไส้อั่วจะใช้ไส้ที่เตรียมไว้โดยเฉพาะ หากเป็นไส้แห้งจะต้องแช่น้ำให้คืนตัว มีความเหนียวและยืดหยุ่น (มีขายตามร้านค้า) โดยเตรียมเครื่องปรุงประกอบด้วย พริกแห้ง เกลือ ขมิ้น ตะไคร้ บดหรือโขลกให้ละเอียดนำมาคลุกเคล้ากับเนื้อหมูติดมันสับหรือบดละเอียด จากนั้นนำมายัดใส่ในไส้ที่เตรียมไว้ ความยาวตามต้องการ หรือจะมัดเป็นท่อนๆ ก็ได้ ยัดจนเต็ม ทาบริเวณผิวไส้อั่วด้านนอกด้วยขมิ้นโขลกละเอียดแล้วนำไปปิ้ง หรือ ย่างบนเตาถ่าน ควรใช้ไฟไม่แรงมากเพื่อให้สุกถึงข้างใน ระหว่างปิ้งหรือย่างจะต้องใช้ไม้แหลมแทงบางจุดของไส้อั่วเพื่อระบายไอร้อนและไม่ทำให้ไส้บวมโป่ง การปิ้งหรือย่างควรให้ไส้อั่วอยู่ห่างออกจากถ่านไฟพอควรเพื่อป้องกันไม่ให้ไหม้ก่อนจะสุกทั่วถึงกัน บางสูตรอาจใช้นึ่งให้สุกก่อนแล้วนำไปย่างหรือทอดพอเป็นพิธี