นิทานพื้นบ้านล้านนาเป็นหนึ่งในวรรณกรรมมุขปาฐะที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตกาล ในอดีตนั้นพ่อแม่ปู่ย่าตายายมักจะเล่านิทานให้ลูกหลานได้ฟังในยามค่ำคืนหลังจากทานอาหารเย็นเสร็จเรียบร้อยแล้วก็เป็นเวลาของครอบครัวที่จะพูดคุยกัน สนทนาปราศัยก่อนเข้านอน นิทานที่ผู้ใหญ่มักจะเล่าให้เด็กๆ ฟังมักจะเป็นนิทานชาดกซึ่งอาจจะตัดตอนมาจากวรรณกรรมชาดกตอนใดตอนหนึ่ง ทะยอยเล่าวันละนิดละหน่อย หรืออาจจะเป็นนิทานที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ สัตว์ เป็นนิทานอธิบายเหตุ เช่น นิทานเรื่องดาวลูกไก่ นิทานเรื่องทำไมงูเหลือมถึงไม่มีพิษ ทำไมจั๊กจั่นถึงไม่มีไส้ เป็นต้น การเล่านิทานให้ลูกหลานได้ฟังนั้นสามารถสอดแทรกการสอนให้เด็กๆ ได้ซึบซับถึงศีลธรรม จริยธรรมได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วยังมีนิทานอีกหลายประเภทที่ผู้ใหญ่มักจะเล่าให้ลูกหลานได้ฟัง หรือผู้นำในชุมชนมักจะเล่าให้กับสมาชิกของชุมชนได้ฟังในวาระโอกาสสำคัญ เช่น นิทานวีรบุรุษประจำท้องถิ่น หรือนิทานที่เล่าความเป็นมาของสถานที่สำคัญในท้องถิ่นเพื่อสร้างความรู้สึกรักและภาคภูมิใจในถิ่นเกิด นอกจากนั้นแล้ว นิทานเจี้ยก้อมหรือนิทานมุขตลกยังถูกเล่าสู่กันฟังในหลายโอกาสสำหรับผู้ใหญ่ เพราะนิทานมุขตลกหลายเรื่องเป็นเรื่องราวทางเพศที่ไม่เหมาะกับเด็ก ผู้ใหญ่จึงมักจะเล่าสู่กันฟังในกลุ่มผู้ใหญ่ในเวลาที่เหมาะสม นิทานพื้นบ้านล้านนามีจำนวนมากและหลากหลายประเภท ประคอง นิมมานเหมินท์ รวบรวมองค์ความรู้ด้านนิทานพื้นบ้านเพื่อตีพิมพ์ตำราทางคติชนวิทยาในหนังสือ “นิทานพื้นบ้านศึกษา” โดยได้บรรยายถึงแนวทางการศึกษานิทานพื้นบ้านในวงการคติชนวิทยาตะวันตก ทั้งการให้ความหมายและการแบ่งประเภทนิทานพื้นบ้านโดยใช้ทฤษฎีของ Stith Thompsonที่แบ่งประเภทของนิทานพื้นบ้านออกเป็น 11 ประเภทคือ นิทานมหัศจรรย์ นิทานชีวิต นิทานวีรบุรุษ นิทานประจำถิ่น นิทานอธิบายเหตุ ตำนานปรัมปรา นิทานสัตว์ มุขตลก นิทานศาสนา นิทานเรื่องผีและนิทานเข้าแบบ โดยทฤษฎีของสติธ ธอมป์สัน (Stith Thompson) ได้จำแนกประเภทของนิทานพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วโลกว่าสามารถแบ่งรูปแบบของนิทานพื้นบ้านออกเป็น 11 ประเภท คือ
1. นิทานมหัศจรรย์ (Fairy Tale) หรือเทพนิยาย มีเรื่องราวของอิทธิปาฏิหาริย์และความมหัศจรรย์เหนือธรรมชาติ มีลักษณะสำคัญคือ เป็นเรื่องค่อนข้างยาว มีหลายอนุภาค(motif) หรือหลายตอน ดำเนินเรื่องอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ไม่บ่งสถานที่หรือเวลาแน่นอน ตัวละครเอกของเรื่องต้องผจญภัยหรือชะตากรรมได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์หรืออมนุษย์ อาจแต่งงานแล้วเปลี่ยนฐานะดีขึ้น และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอมนุษย์ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์หรือสิ่งมหัศจรรย์เหลือวิสัยมนุษย์
2. นิทานชีวิต (Novella) มีขนาดของนิทานค่อนข้างยาว มีหลายอนุภาคหรือหลายตอน แต่นิทานชีวิตจะดำเนินเรื่องอยู่ในโลกแห่งความจริง มีการบ่งสถานที่และตัวละครชัดเจน อาจจะมีเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์หรือความมหัศจรรย์ แต่จะมีลักษณะที่ผู้อ่านหรือผู้ฟังเชื่อได้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่าอิทธิปาฏิหาริย์ที่ปรากฏในนิทานมหัศจรรย์
3. นิทานวีรบุรุษ (Hero Tale) เป็นนิทานที่มีขนาดค่อนข้างยาว ประกอบด้วยหลายอนุภาค หลายตอน อาจอยู่ในโลกแห่งจินตนาการหรือโลกที่ดูเหมือนจะเป็นจริง แม้ว่านิทานมหัศจรรย์และนิทานชีวิตจะมีพระเอกที่มีลักษณะเป็นวีรบุรุษ แต่ต่างกับนิทานวีรบุรุษตรงที่นิทานวีรบุรุษเป็นนิทานชุดเล่าถึงการผจญภัยของวีรบุรุษคนเดียวหลายครั้งหลายหนและมักเล่าถึงการผจญภัยของวีรบุรุษที่มีความสามารถเหนือมนุษย์
4. นิทานประจำถิ่นหรือนิยายประจำถิ่น (Sage, Local Tradition, Local Legend หรือ Migratory Legend) นิทานประเภทนี้มีขนาดของเรื่องไม่แน่นอน บางเรื่องอาจจะมีอนุภาคสำคัญเพียงอนุภาคเดียว มักเป็นเรื่องแปลกพิศดารซึ่งเชื่อว่าเคยเกิดขึ้นจริง ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง มีการระบุตัวละครและสถานที่ที่บ่งไว้ชัดเจน อาจจะเป็นเรื่องของบุคคลในประวัติศาสตร์หรือคนสำคัญของเมือง ตัวละครอาจจะเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์หรือผีสางนางไม้ นิทานประจำถิ่นจะอธิบายถึงความเป็นมาของสิ่งที่อยู่ในท้องถิ่น อาจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือก่อสร้างขึ้นมา
5. นิทานอธิบายเหตุ (Explanatory) เป็นเรื่องที่อธิบายถึงกำเนิดหรือความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ อาจอธิบายถึงกำเนิดของสัตว์บางชนิด สาเหตุที่สัตว์บางชนิดมีรูปร่างลักษณะต่างๆ กำเนิดของต้นไม้หรือดอกไม้บางชนิด ความเป็นมาของดวงดาวบางดวง หรือบางกลุ่ม เป็นต้น นิทานประเภทนี้มักจะสั้นและเล่าอย่างตรงไปตรงมาเพื่อตอบคำถามว่าทำไมสิ่งนั้นจึงเป็นอย่างนี้
6. ตำนานปรัมปรา (Myth) บางทีเรียกว่า เทวปกรณ์หรือเทพปกรณัม เป็นเรื่องอธิบายถึงกำเนิดของจักรวาล โครงสร้างและระบบของจักรวาล มนุษย์ สัตว์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ลม ฝน กลางวันกลางคืน ฟ้าร้องฟ้าผ่า ความเป็นมาของชนชั้นผู้นำ ลำดับชั้นและบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ตลอดจนประเพณีพิธีกรรมและการประพฤติปฏิบัติต่างๆ ว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะเหตุใด
7. นิทานสัตว์ (Animal Tale) เป็นนิทานที่มีสัตว์เป็นตัวเอก นิทานสัตว์โดยทั่วไปมักแสดงให้เห็นความฉลาดของสัตว์ชนิดหนึ่งและความโง่เขลาของสัตว์อีกชนิดหนึ่ง สัตว์ที่เป็นตัวเอกมีลักษณะเป็นตัวโกง เที่ยวกลั่นแกล้งเอาเปรียบคนหรือสัตว์อื่นซึ่งบางทีก็ได้รับความเดือดร้อนตอบแทนบ้างเหมือนกัน บางเรื่องมีหลายอนุภาค หลายตอนหรือตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากที่ไม่น่าเป็นไปได้ของสัตว์อันเนื่องมาจากความโง่ของมัน นิทานประเภทนี้ถ้าหากเล่าโดยมีเจตนาจะสอนจริยธรรมหรือคติธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จะจัดเป็นนิทานคติ (Fable)
8. นิทานมุขตลก (Jest, Homourous Anecdote, Merry Tale, Munskull Tale) มักเป็นนิทานขนาดสั้น โครงเรื่องไม่ซับซ้อน มีเพียงอนุภาคเดียว ตัวละครอาจเป็นมนุษย์หรือสัตว์ก็ได้ จุดสำคัญของเรื่องอยู่ที่ความไม่น่าเป็นไปได้ต่างๆ
9. นิทานศาสนา (Religious Tale) เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แต่ไม่ใช่ประเภทเทวปกรณ์
10. นิทานเรื่องผี (Ghost Stories)
11. นิทานเข้าแบบ (Formular Tale) นิทานที่มีแบบแผนในการเล่าพิเศษ โครงเรื่องจะมีความสำคัญเป็นลำดับรองจากแบบแผนการเล่า การเล่านิทานประเภทนี้จะเล่าเพื่อความสนุกสนานของผู้เล่าและผู้ฟัง บางเรื่องอาจจะใช้ในการเล่นเกม มีหลากหลายแบบ เช่น นิทานลูกโซ่ นิทานหลอกผู้ฟัง นิทานไม่จบเรื่องและนิทานไม่รู้จบ
จากทฤษฎีของสติธ ทอมป์สัน สามารถใช้เป็นแนวทางในการจำแนกประเภทนิทานพื้นบ้านล้านนาได้ แต่เนื่องจากสภาพสังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หมวดเรื่องนิทานของสติธในบางหมวดจึงไม่สามารถใช้เป็นหมวดนิทานของนิทานพื้นบ้านได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งประคอง นิมมานเหมินท์ได้ใช้ทฤษฎีของสติธ ทอมป์สันเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทนิทานพื้นบ้านของไทยออกเป็น 11 ประเภทคือ นิทานเทวปกรณ์ นิทานศาสนา นิทานคติ นิทานมหัศจรรย์ นิทานชีวิต นิทานประจำถิ่น นิทานอธิบายเหตุ นิทานสัตว์ เรื่องผี มุขตลกและเรื่องโม้ และนิทานเข้าแบบ จากข้อมูลนิทานพื้นบ้านล้านนาที่ได้เรียบเรียงจากวรรณกรรมมุขปาฐะที่มีในคลังข้อมูลคติชนวิทยา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจากการสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลในหลายพื้นที่ พบว่านิทานที่รวบรวมได้นั้นไม่สามารถจัดประเภทได้ครบทั้ง 11 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งโดยประคอง นิมมานเหมินท์ หรือสติธ ทอมป์สันก็ตามที เพราะจำนวนนิทานที่เก็บรวบรวมมาได้มีไม่ครบทุกประเภทนิทาน เช่น นิทานเข้าแบบ นิทานชีวิต จะพบน้อยมาก ในขณะที่นิทานที่พบมากที่สุดคือนิทานสัตว์ นิทานประจำถิ่น นิทานคติ นิทานอธิบายเหตุ เรื่องผี และมุขตลก ในทางกลับกัน นิทานเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจจะมีองค์ประกอบที่สามารถจำแนกให้เข้าประเภทได้มากกว่า 1 ประเภทก็ได้ เช่น นิทานอธิบายเหตุที่อธิบายถึงเหตุต่างๆ ของสัตว์ก็สามารถจำแนกเป็นนิทานสัตว์ด้วยก็ได้เช่นกัน การรวบรวมข้อมูลนิทานพื้นบ้านล้านนาในครั้งนี้จึงได้รวบรวมนิทานไว้ทั้งหมด ๑๐ ประเภทด้วยกัน ได้แก่ นิทานอธิบายเหตุ นิทานมุขตลกและเรื่องโม้ นิทานเรื่องผี นิทานสัตว์ นิทานมหัศจรรย์ นิทานคติ นิทานประจำถิ่น นิทานชีวิต นิทานศาสนา และนิทานเทวปกรณ์ โดยการรวบรวมนิทานนั้นจะคัดเลือกเรื่องที่มีโครงเรื่องเหมือนกันเพียงสำนวนเดียว และรวบรวมนิทานจากคลังข้อมูลคติชนวิทยา สถาบันวิจัยสังคมและจากการสัมภาษณ์เท่านั้น แม้ว่านิทานพื้นบ้านล้านนาที่มีทั้งหมดจะมีจำนวนมากกว่านี้และตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อต่างๆ หลากหลายก็ตามที ทั้งนี้เพื่อจัดเตรียมสร้างฐานข้อมูลนิทานพื้นบ้านล้านนาในการดำเนินงานในอนาคต