Sign In
ล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของคณะ สถาบัน และสำนักต่างๆ ที่มีบุคลากร รวมถึงองค์ความรู้
ในรูปผลงานวิชาการ งานวิจัย และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับล้านนาศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์
เพื่อรวบรวบองค์ความรู้และแหล่งขององค์ความรู้ด้านล้านนาคดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน สามารถสืบค้นได้ เพื่อการถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ล้านนา
คดีทั้งแปดด้านที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้กับสถาบันการศึกษาและประชาชน ผู้สนใจ
สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไป
1 2 3 4
เกี่ยวกับเรา

โครงการล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นแหล่งผลิตบัณฑิตและงานวิจัยที่มีคุณภาพ เพื่อนำความรู้ความสามารถไปบริการชุมชน ให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยทุกภาคส่วน ตามปณิธานที่ตั้งไว้ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ ตามหลักแห่งเสรีภาพทางวิชาการ โดยยึดมั่นในสัจธรรมและคุณธรรม เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ การประยุกต์ เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

            การดำเนินงานที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลและบริการความรู้สู่ชุมชนอย่างแยกส่วน ซึ่งแต่ละคณะ สถาบัน และสำนัก ต่างมีฐานข้อมูลและบุคลากรเป็นของตนเอง ดังนั้นเพื่อให้เกิดเป็นฐานข้อมูลกลางของมหาวิทยาลัยด้านล้านนาคดี ที่สามารถระบุแหล่งขององค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญได้ชัดเจน จึงเริ่มจากการสำรวจข้อมูลที่แยกเก็บและกระจายตามหน่วยงานต่างๆ แล้วจัดหมวดหมู่เพื่อให้เกิดความชัดเจน เกิดการเชื่อมโยงและสร้างความร่วมมือระหว่างคณะ สถาบัน และสำนัก ในการบูรณาการข้ามสาขาวิชา แล้วนำความรู้ทั้งหมดมาบริหารจัดการ เพื่อการเผยแพร่และบริการวิชาการสู่ชุมชนอย่างเป็นระบบ

            ตามแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 11 (ระหว่างปี 2555-2559) แผนกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ที่ 4 (การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และการมุ่งส่งเสริมอัตลักษณ์ล้านนา) ให้มีการจัดตั้ง "โครงการล้านนาคดีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่" โดยสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเป็นส่วนงานหลักในการดำเนินงานประสานความร่วมมือกับคณะ สถาบัน สำนักและศูนย์ต่างๆ ในการรวบรวบองค์ความรู้ ผลงานวิชาการ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นระบบ มีมาตรฐาน สามารถสืบค้นได้ เพื่อนำมหาวิทยาลัยสู่อัตลักษณ์ของความเป็นเลิศด้านล้านนาคดีศึกษาเกิดการถ่ายทอดและเผยแพร่ องค์ความรู้ล้านนาคดี ทั้งแปดด้านที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้กับสถาบันการศึกษาและประชาชนผู้สนใจ สามารถนำไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

วิสัยทัศน์

            สร้างอัตลักษณ์และความเป็นเลิศด้านล้านนาคดีให้แก่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาค้นคว้าความรู้และการเผยแพร่ข้อมูลแก่ นักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยและประชาชนทั่วไปที่สนใจให้ได้ความรู้ด้านล้านนาคดี อย่างถูกต้องและสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ นำไปสู่การอนุรักษ์ สืบสานพัฒนา และส่งเสริม ถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

นิยาม ขอบเขตและความหมายของล้านนาคดี

            บริบทของล้านนาคดี คือ องค์ความรู้อันเกี่ยวข้องกับความเป็นล้านนา ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรง อันได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต ศิลปะ สังคม ภาษา วัฒนธรรม และโดยทางอ้อม อันได้แก่ แง่มุมทาง โบราณคดี มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ ซึ่งครอบคลุมภูมิหลังของความเป็นล้านนาในอดีตจนถึงตัวตนของล้านนาในปัจจุบัน

            จากขอบเขตดังกล่าว สามารถจำแนกเป็นหมวดหมู่ ตามการศึกษาวิจัยในองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับล้านนาคดีศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน ได้ด้วยกันทั้งหมด 8 ด้านดังนี้:

“ 8 ด้านล้านนา เลอค่าเชิงอัตลักษณ์ ” (ล้านนาคดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

1. ภาษา วรรณกรรม และวรรณศิลป์ (คัมภีร์เอกสารโบราณ ฯลฯ )
2. โบราณคดี และ ประวัติศาสตร์ล้านนา
3. ปรัชญา ศาสนา และความเชื่อ (พิธีกรรม ฯลฯ)
4. ศิลปกรรม หัตถกรรม ดนตรี และนาฏยกรรม
5. สถาปัตยกรรม
6.การกิน การอยู่ เครื่องนุ่งห่ม (เรือน การแต่งกาย อาหาร เพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ฯลฯ)
7. แพทย์ล้านนา (ตำรายา สมุนไพร นวดบำบัด ฯลฯ)
8. มานุษยวิทยา (ชาติพันธุ์ )

ด้านที่ 1 ภาษา วรรณกรรมและวรรณศิลป์

: ว่าด้วยหลักการใช้ภาษาล้านนา การพูด การอ่าน การเขียน การปริวรรตอักษรธรรมล้านนา พจนานุกรมล้านนา ตำราเรียน เอกสารประกอบการเรียนอักษรธรรมล้านนา สำนวน สุภาษิตล้านนา ผลงานการศึกษางานวรรณกรรม ตำนาน นิทาน เจี้ยก้อม และงานวรรณศิลป์ คร่าว ซอ โคลง อัตชีวประวัติของกวีเอกล้านนา นอกจากนี้ยังรวมถึงผลงานการศึกษาภาษา วรรณกรรม และวรรณศิลป์ ของกลุ่มคนที่อยู่ในขอบข่ายเชื่อมโยงวัฒนธรรมล้านนาตระกูลต่างๆ เช่น ภาษาไทใหญ่ ภาษาพม่า ภาษาไทลื้อ

ด้านที่ 2 ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

: การรวบรวมผลงานการศึกษาทางประวัติศาสตร์ล้านนา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชุมชน โดยอาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น จารึก ตำนานพื้นเมือง ตำนานวีรบุรุษ และตำนานทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง รวมถึงอัตชีวประวัติของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ล้านนา นอกจากนี้ยังรวบรวมผลงานการศึกษาแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน โบราณวัตถุและประวัติศาสตร์ศิลปะล้านนาในแขนงต่างๆ

ด้านที่ 3 ปรัชญา ศาสนาและความเชื่อ

: การรวบรวมผลงานการศึกษาเรื่องแนวความคิดทางปรัชญาพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาตำนานทางพระพุทธศาสนา ตำนานวัด ตำนานพระธาตุ นิทานชาดก บทสวดพื้นเมือง พิธีกรรม ความเชื่อไสยศาสตร์โหราศาสตร์ คาถาอาคม โชคลาง ผี ขวัญ จิตวิญญาณและข้อต้องห้ามทางสังคม จารีต ขนบธรรมเนียม ประเพณีสำคัญของล้านนา รวมถึงกฏหมาย-ธรรมศาสตร์ อันเกี่ยวข้องพระพุทธศาสนา

ด้านที่ 4 ศิลปกรรม หัตถกรรม ดนตรีและนาฏยกรรม

: การรวบรวมผลงานการศึกษางานศิลปกรรม งานพุทธศิลป์ งานหัตถกรรม งานประดิษฐ์ งานปราณีตศิลป์ งานจิตรกรรม ประติมากรรม เครื่องสักการะ เครื่องใช้ในพิธีกรรม ศิลปะการดนตรี บทเพลง บทขับขาน คร่าว จ๊อย ซอ ฮ่ำ ศิลปะการฟ้อนรำ และอัตชีวประวัติ สล่า ช่าง ศิลปินเอกล้านนา

ด้านที่ 5 สถาปัตยกรรม

: การรวบรวมผลงานการศึกษาสิ่งปลูกสร้างและสภาพแวดล้อม ว่าด้วยลักษณะที่อยู่อาศัย เรือนท้องถิ่นล้านนา ความเชื่อเกี่ยวกับเรือน ประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการเรือนท้องถิ่น รูปแบบพัฒนาการเรือนล้านนา ส่วนประกอบของเรือนที่อยู่อาศัย รูปแบบสถาปัตยกรรมของวัด วิหาร อุโบสถอย่างล้านนา เทคนิคทางการก่อสร้าง การรื้อย้ายเรือนโบราณ แนวทางการอนุรักษ์ทางสถาปัตยกรรม แหล่งนิเวศของชุมชน การวางผังชุมชนและการวิเคราะห์ออกแบบ

ด้านที่ 6 การกิน การอยู่ เครื่องนุ่งห่ม

: การรวบรวมผลงานการศึกษาภูมิปัญญาล้านนา การดำรงชีวิตของชาวล้านนาอาหาร การเกษตร เครื่องมือ เครื่องใช้ วัฒนธรรมเครื่องแต่งกาย เศรษฐกิจสังคม ชุมชนการละเล่น กิจกรรมทางวัฒนธรรม งานประเพณีและการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา

ด้านที่ 7 แพทย์ล้านนา

: การรวบรวมผลงานการศึกษาเกี่ยวกับโรคและอาการป่วยของของชาวล้านนา การตรวจ วินิจฉัย บำบัด การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูสุขภาพ การผดุงครรภ์ ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้าน พจนานุกรมทางการแพทย์ล้านนา รวมถึงวิวัฒนาการด้านการแพทย์ล้านนา และแพทย์ทางเลือกแผนล้านนาร่วมสมัย

ด้านที่ 8 มานุษยวิทยา

: การรวบรวมผลงานการศึกษาเชิงสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ของกลุ่มคน ประวัติความเป็นมา การอพยพเคลื่อนย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในล้านนา อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์การดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลทางสังคมเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ระบบนิเวศ วัฒนธรรมและการปรับตัวของกลุ่มชาติพันธุ์สู่สังคมคมเมือง

พันธกิจของล้านนาคดีศึกษา

เพื่อเป็นสื่อกลาง

1. อนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริม ความรู้ด้านล้านนาคดีศึกษาทั้งแปดด้านของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เกิดการบูรณาการข้ามสาขาวิชาในมหาวิทยาลัย
2. ศึกษาวิจัยแบบบูรณาการ ด้านล้านนาคดีศึกษา โดยประสานงานให้เกิดความร่วมมือของแต่ ละคณะและส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. ประสาน เชื่อมโยง เผยแพร่ข้อมูล ความรู้ ผ่านสื่อต่างๆ (สื่อโทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ) เกี่ยวกับล้านนาคดีศึกษา ให้แก่ นักวิชาการ อาจารย์ นักเรียน นักศึกษาและสาธารณชน
4. นำไปสู่พัฒนาการต่อยอดเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์กับสังคม

แนวทางในการดำเนินงาน

            1. หาอัตลักษณ์และความเป็นเลิศด้านล้านนาคดีในภูมิภาค โดยโครงการล้านนาคดีมีเป้าหมาย ที่จะสร้างภาพลักษณ์ให้มีอัตลักษณ์อย่างโดดเด่นของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรวบรวม ค้นคว้าและการเผยแพร่ให้บริการข้อมูล รวมทั้งการอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมพัฒนา องค์ ความรู้ด้านล้านนาคดีให้คงอยู่ได้ตามยุคสมัยของสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

            2. บูรณาการองค์ความรู้ด้านล้านนาคดีในสาขาต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโครงการล้านนา คดีจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเก็บรวบรวมความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยด้านล้านนาคดี ของทุก ส่วนงานของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งยัง เป็นสื่อกลางการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อ นำไปสู่การบูรณาการงานศึกษาวิจัย ด้านล้านนาคดีของส่วนงานต่างๆ หมวดสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อให้เกิด นวัตกรรมใหม่ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการนำไปพัฒนาและใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม

            3. เป็นสื่อบูรณาการรวบรวมและเผยแพร่ความรู้จากงานศึกษาวิจัย หรืองานศึกษาพัฒนาความรู้ ล้านนาคดี ของส่วนงานวิชาการและส่วนงานอื่น ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สู่ชุมชน โดยโครงการล้านนาคดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีช่องทางการเผยแพร่ 3 ลักษณะคือ

3.1 ในรูปแบบ หนังสือตำรา เอกสาร หรือ วารสารทางวิชาการ ฯลฯ ให้กับประชาชนที่สนใจข้อมูลเชิงลึกหรือต้องการนำข้อมูลไปอ้างอิงเพื่อต่อยอดความรู้
3.2 ในรูปแบบ การสืบค้นระบบฐานข้อมูลออนไลน์ ให้ประชาชนทั่วไปได้สืบค้น และรับข้อมูล ได้กว้างไกลทั่วสารทิศ
3.3 ในรูปแบบของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เช่น พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ( Living and Learning Museum ) พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณ-ล้านนาวิลเลจการจัดกิจกรรม การอบรม ( Workshops) การสาธิต (Demonstrations) การจัดนิทรรศการ (Exhibitions) การจัดสัมมนา ( Forum, Seminars, Meetings) เป็นต้น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและความน่าสนใจเชิง edutainmentแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทุกเพศ ทุกวัย
หน้าหลัก เกี่ยวกับเรา คลังศึกษา คณะกรรมการ องค์กร ต่างๆ ติดต่อเรา