๒. คติจักรวาลกับโลกทัศน์ของคนล้านนา


โลกทัศน์ของคนล้านนา ตามความหมายที่ เรณู อรรฐาเมศร์ ได้กล่าวถึงความหมายว่าเป็น “ทัศนะหรือความคิดเห็นที่ชาวล้านนามีต่อบุคคลและสังคม แสดงให้เห็นว่าเขานึกคิดและรู้สึกอย่างไรต่อชีวิตที่อยู่ร่วมกันในสังคมไทย โลกทัศน์ที่แสดงออกมาในรูปของความรู้ด้านต่างๆ ความเชื่อ ศิลปะ ศีลธรรม กฎหมาย ประเพณีต่างๆ ตลอดถึงการอบรมสั่งสอน” เป็นการอธิบายตนเอง สิ่งแวดล้อมตามความเข้าใจ ความรู้ และความเชื่อของชาวล้านนาที่มีต่อสังคมระดับต่างๆ ในอดีตมักเป็นโลกทัศน์ที่ไม่ต่างกันนัก หลักฐานจากการถ่ายทอดผ่านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ ที่เป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม มีพัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกสังคมล้านนา

ทุกศาสนามีหน้าที่ในการจัดการความท้อแท้สิ้นหวังของคน เพื่อให้ข้ามผ่านปัญหานี้ไปได้ เพื่อเป็นการตอกย้ำหรือสร้างความเชื่อให้เกิดขึ้นกับคนอย่างสม่ำเสมอ จึงเกิดพิธีกรรมหรือการกระทำทางศาสนาขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ความพ้นทุกข์ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา โดยแนวคิดในการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นสะท้อนถึงแนวคิดสำคัญของชุมชนในการให้ความหมายและการอธิบายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่นอกเหนือการรับรู้จากประสบการณ์ในโลกปัจจุบัน เป็นการสร้างโลกทัศน์ของชุมชน ในการจัดการกำหนดพื้นที่สำคัญของชุมชนให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยการสร้างวัดขึ้นเพื่อรองรับประเพณีพิธีกรรม ตอบสนองความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา

การถ่ายทอดคติความเชื่อเกี่ยวกับไตรภูมิจักรวาล หรือโลกทั้งสาม อันประกอบด้วยกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ เพื่อการรับรู้ผ่านผลงานที่หลากหลาย โดยส่วนที่มีความเป็นรูปธรรม และอธิบายได้เด่นชัด คือ ผลงานวรรณกรรม ซึ่งปรากฏทั้งจักรวาลทีปนี ไตรภูมิกถา ไตรภุมม์ (ไตรภูมิฉบับล้านนา) ทั้งหมดเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่แต่งขึ้นโดยพระเถระล้านนา เพื่อใช้ตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาของมนุษย์ โลก ดินแดนที่สัตว์ทั้งหลายอาศัยอยู่ และแดนนิพพาน เป็นการตอบในลักษณะการอ้างอิงหลักฐานมาจากคัมภีร์ทางศาสนา โดยจักรวาลทีปนีได้มีการรวบรวมไว้อย่างเป็นระบบชัดเจน เรื่องราวเกี่ยวกับจักรวาลเป็นการตอบสนองต่อความเชื่อในสิ่งที่ไม่ปรากฏในธรรมชาติทั่วไป เป็นสิ่งที่เกิดจากการหยั่งรู้และเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ใช้ในการอบรมสั่งสอนคนให้มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป และเร่งทำความดี ส่วนการถ่ายทอดผ่านงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนา เปรียบเสมือนการถ่ายทอดรูปแบบให้ปรากฏเป็นการจำลองจักรวาลให้เห็นชัดเจน โดยการกำหนดศูนย์กลางของจักรวาลมีความหมายถึงพระพุทธเจ้า และพระอาทิตย์ตามที่ เอเดรียน สนอดกราส กล่าวไว้ในสัญลักษณ์แห่งพระสถูป ความว่า

“พระอาทิตย์ส่องสว่างไปทั่วโลก เปรียบกับพระพุทธเจ้าที่ทรงมองเห็นสิ่งทั้งปวงพร้อมกันในทันที พระพุทธเจ้าทรงเป็นแสงอาทิตย์ ต้นกำเนิดแสงส่องไปทั่วโลก พระมหาไวโรจนะ พระอาทิตย์ผู้ยิ่งใหญ่ ทรงประทับยืนอยู่บนยอดภูเขาแห่งจักรวาล (เขาพระสุเมรุ) ทรงเผยแพร่ธรรมอยู่ชั่วนิรันดร์ พระอาทิตย์ที่สูงสุดเมื่อลอยขึ้นสู่ที่สูงจะไม่ตกลงมาอีกต่อไป ในดินแดนที่เรียกว่าสรวงสวรรค์ พื้นโลก สถิตอยู่นอกกาลเวลา อยู่นิ่งตลอดกาล พระอาทิตย์เป็นเสาหลักที่แบ่งภพภูมิต่างๆออกจากกัน เป็นแกนของโลก เป็นจุดศูนย์กลาง เป็นสัญลักษณ์ของหลักการปกครอง เป็นกฎจักรวาลที่เที่ยงตรง”

เอเดรียน สนอดกราส ได้ศึกษาสัญลักษณ์แห่งพระสถูป เพื่อแสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสร้างรูปสัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดความเป็นจริงเรื่องจักรวาล โดยสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดผ่านรูปแบบสถูปนั้น ล้วนสื่อความหมายของการสร้างสรรค์จักรวาลผ่านพิธีกรรม ทั้งการกำหนดแผนผังของพระสถูปเพื่อให้เกิดทิศทางและแผนที่ด้วยพิธีกรรมซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างจักรวาลจากความสับสนไร้ระเบียบ กลายเป็นพื้นที่ว่างอันศักดิ์สิทธิ์ท่ามกลางโลกียะ โดยเจริญรอยตามการสร้างสรรค์โลกและจักรวาล เช่นเดียวกับพิธีกรรมในการกำหนดปริมาตรเลียนแบบการแผ่ของจักรวาลที่ส่องสว่างสู่ความมืดมนกำเนิดจักรวาลเป็นการขยายปริมาตรจากจุดศูนย์กลางไปยังทิศทางต่างๆ มณฑลหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นแบบย่อของจักรวาลที่รวมความหลากหลายวุ่นวายของสรรพสิ่งเข้าด้วยกันอย่างบูรณาการเป็นภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งของจักรวาล จุดศูนย์กลางของมณฑลเป็นศูนย์กลางของจักรวาลที่คนมุ่งเข้ามา

โลกทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับคติจักรวาลในล้านนานั้น สามารถเชื่อมโยงได้กับคติจักรวาลทางพุทธศาสนาสากล เนื่องจากมีต้นกำเนิดมาจากอินเดีย จากศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนาที่มีการแต่งเติมขึ้นในภายหลัง เป็นการรับรู้และจินตนาการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรม ด้านกายภาพที่รับรู้ คือ เทือกเขาหิมาลัยถูกจัดเป็นเขาพระสุเมรุซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด และประเทศในอาเซียนมีภูมิประเทศที่คล้ายกัน มีภูเขาสูง ที่ราบลุ่มแม่น้ำที่กำเนิดมาจากทางตอนเหนือ ทำให้คนเหล่านี้คิดว่าอยู่ในชมพูทวีป แม่น้ำทั้งหลายมีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำ ๕๐๐ สายจากป่าหิมพานต์ ด้านภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกับที่อินเดีย ทำให้เกิดการแต่งตำนานต่างๆ ที่มีต้นเค้ามาจากต้นกำเนิดตำนานทางพุทธศาสนาดัดแปลงให้เข้ากับท้องถิ่น เข้ากับลักษณะของคนในพื้นที่ ทำให้ความแตกต่างเกิดเป็นเอกลักษณ์ของงานวรรณกรรมและงานศิลปกรรมในพุทธศาสนาที่เกิดจากการแปลความจากจินตนาการออกมาเป็นรูปธรรมและพัฒนารูปแบบต่อไป