๔. การถ่ายทอดคติจักรวาลผ่านงานศิลปกรรมในพุทธศาสนา


การวิจัยเกี่ยวกับคนและจักรวาลล้านนาเพื่อแสดงโลกทัศน์และภูมิปัญญาของคนในอดีต การถ่ายทอดคติจักรวาลผ่านงานพุทธศิลป์ในฐานะภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มีผลต่อจิตใจและการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมตามวิถีพุทธได้อย่างมั่นคงเป็นสิ่งที่เลือนหายไปจากการรับรู้ของคนในสังคมปัจจุบัน ด้วยการแทนที่จากความรู้ที่เป็นสากล ทำให้ความรู้เรื่องราวในท้องถิ่นที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของคนในอดีตลดลง ความเข้าใจรากเหง้าทางวัฒนธรรมเพื่อการปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและยุคสมัยเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้จากอดีต การรื้อฟื้นองค์ความรู้ด้านคติจักรวาลล้านนาในเนื้อหาที่ผ่านมาเป็นข้อมูลเชิงวรรณกรรมที่ส่วนหนึ่งถูกศึกษาและนำมาออกแบบเป็นงานพุทธศิลป์ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาประกอบพิธีกรรมหรือมากราบไหว้บูชาพระพุทธรูป พระธาตุ ได้พบเห็นจักรวาลที่จำลองผ่านวัด และสอดแทรกอยู่ในทุกผลงาน เกิดความเข้าใจในพระธรรมคำสอน และแนวทางปฏิบัติอันจะนำไปสู่การหลุดพ้นได้ โดยแบ่งประเภทของคติจักรวาลที่ถ่ายทอดผ่านผลงานทางพุทธศาสนา ดังนี้

๔.๑ งานพุทธศิลป์เพื่อแสดงความเป็นศูนย์กลางของจักรวาล

โชติ กัลยาณมิตร ได้ศึกษาคติโบราณในการสร้างสรรค์งานพุทธสถาปัตยกรรมไทยโดย ให้ความคิดในเบื้องแรกเกี่ยวกับการออกแบบที่มีการนำจำนวนเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องภพภูมิ และโยงแผนผังจักรวาลเข้ากับการออกแบบเจดีย์ที่มีความเชื่อว่าสิ่งที่กำหนดรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือคติไตรภูมิจักรวาล เนื้อหาของบทความจึงเป็นเรื่องการวิเคราะห์รูปแบบสถาปัตยกรรมประเภทต่างๆ เช่น เจดีย์ ปรางค์ มณฑป โดยนำระบบตัวเลขเกี่ยวกับจำนวนภพภูมิ จำนวนพระธรรมคำสอน หลักธรรม ซึ่งเอเดรียน ได้กล่าวว่าคัมภีร์สรวาสติวาทิน วินัย ระบุว่าจำนวนปล้องของเจดีย์มีความสัมพันธ์กับขั้นตอนสู่พระนิพพานอย่างแน่นอน

ทำให้เห็นว่าแนวคิดในการสร้างศาสนสถานให้มีความสัมพันธ์กับการสร้างจักรวาล ซึ่งเป็นไปตามผลการศึกษาของ เอเดรียน สนอดกราส ที่กล่าวถึง ทฤษฎีแนวคิดจักรวาลวิทยา มีวงกลมสามวง (มณฑล) วางซ้อนเรียงกันบนแกนกลางวงกลม มีขนาดที่วัดไม่ได้ เป็นมณฑลแห่งบรรยากาศ เหนือขึ้นไปเป็นวงกลมแห่งห้วงน้ำเบื้องล่าง เป็นกำเนิดของภูเขาแห่งจักรวาล คือเขาพระสุเมรุและแผ่นดินทอง(กาญจนมณฑล) ประกอบด้วย บรรยากาศ ห้วงน้ำ และแผ่นดิน ดังนั้นการสร้างวัด หรือการสร้างสถูปเป็นศูนย์กลางภายในวัดนั้นย่อมเป็นการจำลองการสร้างจักรวาลขึ้นมา

(๑) งานจักรวาลล้านนาผ่านการจัดวางผังวัด

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล ได้ยกตัวอย่างผลงานชิ้นเยี่ยมในสกุลช่างล้านนา ๒ แห่ง คือ วัดพระธาตุลำปางหลวง สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑ โดยการตีความโครงสร้างผังวัดว่าเป็นสัญลักษณ์ของภูมิจักรวาลตามคติจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาเถรวาท ซ้อนอยู่ในนั้นเป็นสัญลักษณ์ของเมืองพระอินทร์ปรากฏอยู่ด้วย วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๒๔ มีการออกแบบพระอุโบสถ พระวิหารอยู่ในหลังเดียวเป็นอุดมคติในการสร้างจักรวาลของพุทธศาสนาในภัทรกัปออกมาในรูปแบบของสถาปัตยกรรม โดยการจัดผังอาคารและการก่อสร้างสถาปัตยกรรมจึงมาจากศูนย์กลางคือพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ ในอาคารทรงจัตุรมุข

การศึกษาหลักการจัดวางผังวัดสำคัญโดยอิงคติไตรภูมิจักรวาลนั้น กรกนก รัตนวราภรณ์ กล่าวถึงการจัดวางผังวัดสำคัญในล้านนาตามผังจักรวาลว่าให้ความสำคัญของตำแหน่งที่ตั้งและทิศทางของสถาปัตยกรรมภายในวัด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเป็นศูนย์กลางและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยการสร้างวัดตามคติจักรวาลมีความชัดเจนขึ้นในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ เป็นต้นมา เมื่อกษัตริย์ได้ส่งเสริมความเจริญทางพุทธศาสนาจึงเกิดคติจักรวาลขึ้นในเมืองหลวง ซึ่งเมืองชายขอบจะมีความเคร่งครัดน้อยลง โดยจะคำนึงถึงความเหมาะสมกับท้องถิ่นเป็นสำคัญ โดยผังวัดที่มีคติจักรวาลที่ชัดเจนได้แก่ วัดพระธาตุลำปางหลวง วัดพระสิงห์ วัดพระธาตุหริภุญไชย มีเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัดแทนสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ มีกำแพงแก้วและซุ้มโขงเป็นที่กำหนดดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ ให้ความสำคัญกับทิศใต้ในฐานะเป็นที่ตั้งของชมพูทวีป

สุวิภา จำปาวัลย์ ได้แบ่งรูปแบบของการจัดวางผังวัดซึ่งแบ่งเป็น ๒ ระดับ คือ วัดหลวง และวัดราษฎร์ โดยวัดหลวงมีศักดิ์และความสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์หรือชนชั้นปกครอง มีการวางผังโดยแบ่งเขตพุทธาวาสและสังฆาวาสออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อกำหนดเขตพุทธาวาสให้เป็นไปตามคติจักรวาล มีวิหาร และเจดีย์เป็นแนวแกนหลักทิศตะวันออก ตะวันตกของวัด วางตำแหน่งเจดีย์เป็นศูนย์กลางของวัดโดยเปรียบดังเขาพระสุเมรุ โดยรอบตามทิศต่างๆ เป็นที่ตั้งของวิหาร ซึ่งประกอบด้วยด้านทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของวิหารหลวง และทิศใต้ ซึ่งเป็นตำแหน่งของชมพูทวีปในคติจักรวาลได้ตั้งวิหารที่มีความสำคัญ เช่น วิหารลายคำ วัดพระสิงห์ วิหารพระพุทธ ที่วัดพระธาตุหริภุญไชย และวัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น ส่วนทิศเหนือ ใต้เป็นที่ตั้งของอาคารรองลงไป เปรียบเสมือนทวีปทั้งสี่ที่รายล้อมเขาพระสุเมรุอยู่ ในผังวัดราษฎร์มักมีการจัดผังในแนวแกนตะวันออก ตะวันตกเท่านั้น โดยทางเข้าวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีวิหารและเจดีย์เป็นองค์ประกอบสำคัญในแนวแกน

พระธาตุหริภุญไชยในตำแหน่งศูนย์กลางของวัดทั้งการจัดวางผัง และรูปแบบพระธาตุที่ออกแบบเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ แวดล้อมด้วยวิหารเสมือนทวีปทั้ง ๔ และศาลาบาตรในตำแหน่งกำแพงจักรวาลตามลำดับ
แผนผังเขตพุทธาวาส วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร ที่มา: ปรับปรุงจาก ศิลปากร,กรม. (๒๕๒๕). การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ. หน้า ๒๕๕.
แผนผังเขตพุทธาวาส วัดพระธาตุลำปางหลวง ที่มา: ปรับปรุงจาก ศิลปากร,กรม. (๒๕๒๕). การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ. หน้า ๑๘๒.

(๒) งานจักรวาลล้านนาผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรม

การจัดลำดับความสำคัญของสถาปัตยกรรมสำคัญที่สุดในวัด คือ เจดีย์ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลางของวัด จากผลการศึกษาของ เอเดรียน สนอดกราส มีการตีความการใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับโครงสร้างของพระสถูปหรือเจดีย์ว่า สถูปตั้งอยู่ในโดมที่มองไม่เห็น สถูปคือพระธรรม แกนกลางของการประกาศธรรมอยู่ที่ยอดพระสถูป สถูปที่ตั้งอยู่บนเวทีแท่นบูชาก็เลียนแบบจากเขาพระสุเมรุ ในการออกแบบสัญลักษณ์ของเจดีย์ยอด แสดงถึงกล่าวถึงภพภูมิต่างๆ การปฏิบัติเพื่อเลือนระดับชั้นขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นสูง ยอดสถูปชั้นต่างๆ เป็นประตูไปสู่ชั้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

พระธาตุหริภุญไชยตั้งเป็นศูนย์กลางของวัดมีการออกแบบให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีส่วนยอดเรียวแหลมขึ้นไปในอากาศ เสมือนหนทางขึ้นไปสู่อากาศเบื้องบน

ความละเอียดทางการศึกษางานสถาปัตยกรรมและงานพุทธศิลป์ที่ปรากฏในวัด ผลงานของ วรลัญจก์ บุญยสุรัตน์ ได้กล่าวในเชิงสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาว่าเป็นอุบายเพื่อให้ผู้พบเห็นได้ตีความหมายและปฏิบัติตนตามหลักพุทธศาสนาเพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดคือนิพพาน ตัวอย่างสัญลักษณ์ที่ปรากฏตามองค์ประกอบของวิหารล้านนา เช่น ลวดลายประดับตกแต่งมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวในวรรณกรรมทางศาสนา เช่น ไตรภูมิ จักกวาฬทีปนี โดยวิหารมักแสดงเรื่องราวของภูมิจักรวาล มีส่วนของเขาพระสุเมรุ เขาสัตตบริภัณฑ์ ผ่านโขงพระพุทธรูปในวิหาร ปราสาทเฟื้องบนหลังคาวิหาร การจำลองเขาสัตตบริภัณฑ์ผ่านสัตตภัณฑ์หน้าพระพุทธรูป เรื่องราวของป่าหิมพานต์ถ่ายทอดผ่านลวดลายประดับตกแต่งวิหาร เช่น หน้าบัน เสา แผงแล โดยมูลเหตุในการสร้างวิหารในสมัยพุทธกาลไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นที่พำนักของพระภิกษุ มีอานิสงส์ในการสร้างวิหารถึงนิพพาน ส่วนคติความเชื่อในการสร้างวิหารล้านนาคือเป็นที่ประดิษฐานพระรัตนตรัย ด้วยความสมบูรณ์ของวิหารล้านนาจึงมีการศึกษาลวดลาย สัญลักษณ์และคติความเชื่อของส่วนประดับตกแต่งวิหาร คือ ภาพอดีตพุทธเจ้า เทพเทวา สัตว์ประเภทต่างๆ ลายพันธุ์พฤกษา และลวดลายสิริมงคล ที่บอกถึงลักษณะพิเศษเฉพาะของศิลปกรรมล้านนา รูปแบบที่พบ และคติในการสร้างภาพต่างๆในพุทธศาสนา

(๓) งานจักรวาลล้านนาผ่านงานศิลปกรรมและการประดับตกแต่ง

งานประดับตกแต่งงานสถาปัตยกรรม ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม หัตถกรรมต่างๆ เมื่อประกอบเข้าด้วยกันแล้ว สามารถเสริมกันเพื่อสื่อความหมายเกี่ยวกับจักรวาลและความเชื่อได้อย่างชัดเจน เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในวิหารแสดงถึงเรื่องราวทางพุทธศาสนา ทั้งพุทธประวัติ ทศชาติชาดก เวสสันตรชาดก ประกอบการฟังเทศน์หรือฟังเรื่องราวทางศาสนาทำให้เกิดภาพที่มาจากจินตนาการสอดคล้องกับความคิดเมื่อได้ฟังจากงานวรรณกรรม โดยส่วนใหญ่ภาพสำคัญเช่นภาพมารผจญ ต้นศรีมหาโพธิ์ด้านหลังพระประธาน ทำให้พระพุทธปฏิมาสื่อความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ภาพต้นศรีมหาโพธิ์ลงรักปิดทองด้านหลังพระประธานวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง วิหารวัดไหล่หินหลวง วิหารวัดปงยางคก ที่มีสัตตภัณฑ์ตั้งอยู่ด้านหน้าแท่นแก้ว เพื่อเชื่อมโยงเรื่องราวของพระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้ กับการเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริงเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุศูนย์กลางของจักรวาลที่มีภูเขาสัตตบริภัณฑ์รายล้อมเขาพระสุเมรุนั้น

พระประธานวิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง พร้อมองค์ประกอบภาพต้นศรีมหาโพธิ์และสัตตภัณฑ์
พระประธานวัดไหล่หินหลวง ประกอบด้วยภาพอดีตพุทธ รูปต้นโพธิ์ และเทพชุมนุม

งานประติมากรรมที่ส่วนใหญ่ทำจากไม้แกะสลัก ทรัพยากรที่มีอยู่จำนวนมากในชุมชน งานกระดาษ ใบตอง ที่ตกแต่งสถานที่ทั้งแบบถาวรและเฉพาะใช้ชั่วคราวในงานพิธีกรรม เป็นการจำลองสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในภพภูมิ ในจักรวาล ให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นตามความเชื่อและจินตนาการ ตัวอย่างเมื่อประดับสันหลังคาวิหารด้วยปราสาทเฟื้องเสมือนการจำลองเขาพระสุเมรุและสัตต-บริภัณฑ์ ในลักษณะการตัดขวางเป็นการสร้างจักรวาล ณ สถานที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่เป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล

วิหารวัดมิ่งเมือง จังหวัดเชียงราย ประดับสันหลังคาด้วยภาพจำลองของจักรวาล อันมีปลาอานนท์หนุนอยู่เบื้องล่าง

๔.๒ งานพุทธศิลป์เพื่อแสดงภาพจักรวาลและดวงดาว

การแสดงภาพดวงดาวบนท้องฟ้า ปรากฏบนดาวเพดานวัดประตูต้นผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยมีเนื้อความสอดคล้องกับคัมภีร์ใบลาน ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการถ่ายทอดในเชิงการทำนายทายทักตามราศี ส่งผลต่อการกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมเป็นคติความเชื่อ เรื่องเล่าสอนใจกันมาถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับบาปบุญ คุณโทษ ตลอดจนเป็นเรื่องการทำนายถึงอนาคต การให้แนวทางในการทำบุญเพื่อทำนุบำรุงศาสนา เช่น สร้างเสนาสนะ สถานที่สาธารณประโยชน์ พระพุทธรูปปางต่างๆ เพื่อรับอานิสงส์จากการสร้าง ในตำนานดาวช้าง ระสีเจ็ดตน โดยแบ่งตามปีเกิด วันเกิด เป็นต้น

ในการเรียงลำดับดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่มบนท้องฟ้าบนเพดานวิหารวัดประตูต้นผึ้ง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ตามคัมภีร์ใบลานเรื่องมูลฤกษ์ และสังขยาฤกษ์ กลางเพดานเขียนว่า “ลักขณฤกษ์ ๒๗ ตัว ๑๒ รวายสี” ที่เรียงจากด้านทิศตะวันออกของวิหารเวียนมาทางขวามือถึงทิศตะวันตกแล้ววกกลับมาจบกลุ่มดาวฤกษ์ที่ ๒๗ ด้านซ้ายของเพดานวิหารทิศตะวันออก ในลักษณะการเวียนประทักษิณ เริ่มจาก (๑)อัศวินี (๒)ภรณี (๓)กฤตติกา (๔)โรหิณี (๕)มฤคศิระ (๖)อารทรา (๗)ปุนัพสุ (๘)ปุษยา (๙)อาศเลษา (๑๐)มฆา (๑๑)บุรพผลคุณี (๑๒)อุตรผลคุณี (๑๓)หัฏฐา (๑๔)จิตระ (๑๕)สวาสติ (๑๖)วิศาขา (๑๗)อนุราธะ (๑๘)เชษฐา (๑๙) มูละ (๒๐)บุรพาษาฒะ (๒๑)อุตรษาฒะ (๒๒)ศราวณะ (๒๓)ธนิษฐา (๒๔)ศตภิษัช (๒๕)ปุรพภัทรบท (๒๖)อุตรภัทรบท (๒๗)เรวัตติ

สัญลักษณ์ของพระอาทิตย์ (นกยูง) และพระจันทร์ (กระต่าย) บนเพดานวิหารวัดประตูต้นผึ้ง
ภาพแสดงกลุ่มดาวฤกษ์เรียงตัวกันจากด้านบนของภาพคือทิศตะวันออก ส่วนด้านล่างคือทิศตะวันตกประกอบด้วยดาวฤกษ์กลุ่มที่ (๑๐)มาฆา (๑๑)ปุพพมัคคุณี (๑๓)อาสาฬห (๑๔)จิตร (๑๕)สวัสสติ (๑๘)เชฏฐะ (๑๙)มลหถี (๒๗)อนุราธะ พร้อมชื่อราศี กันยรวาสี (กันย์) ตุลลรวายสี (ตุลย์) ประจิกรวายสี (พิจิก) ธนูรวายสร (ธนู)

๔.๓ จักรวาลวิทยากับสังคมปัจจุบัน

การศึกษาเรื่องไตรภูมิจักรวาลที่แพร่หลายในสถานศึกษา ไม่จำกัดเฉพาะงานสถาปัตยกรรมไทยอีกต่อไป คติไตรภูมิจักรวาลได้เป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาวิเคราะห์หลักการออกแบบให้กับการศึกษาศิลปะในแขนงอื่นเพื่อให้เกิดความเข้าใจงานศิลปะไทยอย่างลึกซึ้ง ตัวอย่างจากการจัดการเรียนการสอนผลงานนักศึกษาภาคนิเทศศิลป์ คณะมัณฑณศิลป์ ศิลปากร โดยอาจารย์ไพโรจน์ พิทยเมธี และอาจารย์ไพโรจน์ ธีระประภา ที่เผยแพร่อยู่ใน Facebook ของ Thai Graphic ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ แสดงถึงการนำคติไตรภูมิจักรวาลไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจถึงหลักการออกแบบที่สำคัญของศิลปะไทย