๓. คติจักรวาลในงานวรรณกรรมทางพุทธศาสนา


เมื่อพิจารณาคัมภีร์ธัมม์ใบลานล้านนาทั้งหมดจำนวน ๑๑ รายการที่นำมาศึกษาในหัวข้อจักรวาลวิทยาเป็นการแต่งเติมให้มีความพิสดารและคัดลอกต่อกันมา โดยเอกสารชิ้นเอก คือ จักกวาฬทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์เป็นคัมภีร์โลกธาตุอันเป็นเชียงใหม่คันถะ คือตำราที่รจนาโดยนักปราชญ์ชาวเชียงใหม่โดยแท้ คัมภีร์นี้เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก อรรถกถาและฎีกาในพระไตรปิฎกพร้อมด้วยปกรณ์วิเสสอื่นกว่า ๕๐ รายการ สะท้อนโลกทัศน์ด้านจักรวาลวิทยาของชาวล้านนาเมื่อ ๕๐๐ ปีที่ผ่านมาให้เห็นแจ่มชัด ที่สำคัญคือจักกวาฬทีปนีได้รจนาโดยใช้ภาษาบาลีอันเป็นตันติภาษาแสดงถึงความลุ่มลึกของข้อมูลและวิธีการนำเสนอของท่านผู้รจนาคัมภีร์จากนั้นเป็นเอกสารที่ใช้อักษรธรรมล้านนาในการถ่ายทอดเรื่องราว จากเอกสาร ๑๑ หัวเรื่อง สามารถจำแนกตามเนื้อหาหลักเป็น ๕ กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ ๑ เกี่ยวกับกำเนิดมนุษยชาติ และการสร้างโลก

เอกสารเด่นในกลุ่มนี้ได้แก่ “ปฐมมูลมูลี” ซึ่งเน้นหนักในเรื่องตำนานการสร้างมนุษย์โดย ปฐมมนุษย์คู่หนึ่งที่ชื่อว่า ปู่สังกะสา ย่าสังกะไส้ ซึ่งมีเนื้อเรื่องแตกต่างไปจากคัมภีร์โลกธาตุฉบับอื่นที่ได้รับอิทธิพลจากอัคคัญญสูตรในพระไตรปิฎก เช่น โลกจักขุ โลกจินตา ฉคติทีปนี อรุณวดี เป็นต้น นอกจากนี้ปฐมมูลมูลีก็ยังกล่าวถึงกำเนิดโลกและการสิ้นสุดโลกด้วย ช้างมโนศิลา ต่างจากคัมภีร์โลกธาตุในกลุ่มที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอัคคัญญสูตรอย่างสิ้นเชิง และพบว่าเอกสารที่จัดอยู่ในกลุ่มจริยศาสตร์บางเรื่องเป็นอนุภาคของคัมภีร์ ปฐมมูลมูลี เช่น ปู่เสียงสีสอนโลก คือให้ชื่อของปฐมมนุษย์ในปฐมมูลมูลี คือปู่สังกะสีมาเป็นมูลเหตุของการเทศนาสอนโลกเหมือนกับเอกสารอื่นที่พบในกลุ่มเดียวกันเช่น โคลงวิธูรสอนโลก พระลอสอนโลก คำสอนพระญามังราย เป็นต้น

กลุ่มที่ ๒ นิทานมูลเหตุดาวฤกษ์ประกอบคำทำนาย

เอกสารในกลุ่มนี้ได้แก่ มูลฤกษ์ และสังขยาฤกษ์ บางครั้งพบว่าใช้ชื่อนิทานฤกษ์ซาวเจ็ดตัว ทั้งหมดนี้เป็นนิทานที่กล่าวถึงมูลเหตุการณ์เกิดดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่มบนท้องฟ้า มีเนื้อหาเหมือนกับ ตำนานดาวฤกษ์ของสยาม เช่น ฉบับสำนวนของหลวงวิศาลดรุณกร โดยที่มูลฤกษ์และนิทานฤกษ์ซาวเจ็ดตัวจะมีรายละเอียดเนื้อหาสั้นเพียง ๒ ผูก ต่างกับสังขยาฤกษ์ที่มีเนื้อหายาวกว่า มีรายละเอียดมากกว่า แต่เนื้อเรื่องเหมือนกันกับมูลฤกษ์และนิทานฤาษีซาวเจ็ดตัว คัมภีร์สังขยาฤกษ์มีความยาว ๕ ผูกและพบว่ามีฉบับไทเขินและไทลื้ออีกด้วย

ส่วนกลุ่มเนื้อหานิทานดาวประกอบคำทำนายมี ๒ เรื่อง คือ ตำนานดาวฅวัน(ดาวหาง) บางครั้งพบในชื่อพระญาอินท์ทวาย(ทำนาย)ดาวฅวัน เนื้อหาหลักของเอกสารกล่าวถึงพยากรณ์อนาคตไม่เกี่ยวข้องกับจักรวาลวิทยา อีกฉบับคือตำนานดาวช้าง หรือตำนานระสีทั้ง ๗ ที่กล่าวถึงนิทานดาวช้างเพียงดวงเดียว

กลุ่มที่ ๓ คัมภีร์ที่กล่าวถึงจักรวาลคู่ขนานในลักษณะการเล่าเรื่องอภินิหาร

พบเพียงเรื่องเดียวคือ โมคคัลลานหลงโลก นิยายธัมม์เรื่องนี้กล่าวถึงโลกคู่ขนานที่มีทุกอย่างเหมือนชมพูทวีปคือโลกมนุษย์ในคติจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาและพระอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธองค์ พระมหาโมคคัลลานผู้มีฤทธิ์มากได้พลัดหลงข้ามเข้าสู่จักรวาลคู่ขนานโดยผ่านทางลมพิชชขอด (วีชกรด) ที่พัดหมุนอย่างรุนแรงอยู่เหนือโลกและสามารถกลับเข้าสู่มิติเดิมได้โดยอาศัยฉัพพรรณรังสีของพระพุทธเจ้าทั้งสองภพที่ฉายมาบรรจบกันเป็นเครื่องนำทาง แสดงถึงจินตนาการของคนในอดีตที่มีต่อเรื่องราวทางพุทธศาสนาโดยเปรียบเทียบฤทธิ์ของพระโมคคัลลานและพระพุทธเจ้า การดำเนินอยู่ในเรื่องของภพและมิติเวลาคู่ขนานซึ่งเป็นแนวคิดที่ปรากฏในเชิงวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน

กลุ่มที่ ๔ เอกสารประเภทคัมภีร์โลกธาตุของล้านนาที่กล่าวถึงภพภูมิต่างๆ โดยละเอียด

เอกสารกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากคัมภีร์อัคคัญญสูตรในพระไตรปิฎก เอกสารชุดนี้ยังแยกย่อยได้เป็นหลายระดับตามที่มาและความลุ่มลึกของเนื้อหาในตัวเอกสาร ดังนี้

๔.๑ จักกวาฬทีปนี ของพระสิริมังคลาจารย์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๖ กัณฑ์ ประกอบด้วย (๑) จักกวาฬสรูปาทินิทเทส อธิบายความหมายรูปลักษณะ ขนาดความกว้าง ใหญ่ ยาว ธรรมชาติ และสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในจักกวาฬ (๒) ปัพพตนิทเทส ได้พรรณนาถึงภูเขาต่างๆ อันมีลักษณะและขนาดแตกต่างกันไป (๓) ชลาสยนิทเทส ว่าด้วยภูมิประเทศอันเปี่ยมน้ำท่วมขังดังเช่นมหาสมุทร (๔) ทีปนิทเทส กล่าวถึงมหาทวีปทั้ง ๔ คือ ชมพูทวีป ปุพพวิเทหะ อุตตรกุรุ และ อมรโคยานอันตั้งอยู่กลางน้ำมหาสมุทร (๕) ภูมินิทเทส พรรณนาถึงสถานที่กำเนิดและที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ ที่จุติไปสู่อบายภูมิอันเป็นทางเสื่อมจากความเจริญงอกงามทั้งหลาย (๖) ปกิณณกวินิจฉัย เป็นการวินิจฉัยเรื่องปลีกย่อย เช่น อายุของคนในภูมิต่างๆ เรื่องอาหาร

๔.๒ ปฐมและทุติยมาลัย และมาลัยโปรดโลก เอกสารทั้ง ๓ ฉบับมีที่มาจากที่เดียวกันคือมาลัยวัตถุหรือนิทานเรื่องพระมาลัยเป็นวรรณกรรมพุทธศาสนาจากทวีปลังกา เปรียบได้กับเรื่อง Gilgameshของโลกตะวันตกที่กล่าวถึงมนุษย์ที่ท่องไปในโลกหลังความตาย โดยที่ปฐมและทุติยมาลัยจะถูกจารสำเนาปรากฏมาในคัมภีร์ชุดมหาเวสสันตรชาดก โดยที่ปฐมทุติยมาลัยอันกล่าวถึงพระมหาเถรมาลัยได้เสด็จไปโปรดสัตว์นรกและเยี่ยมชมสวรรค์แล้วกลับมาเพื่อสอนคนบนโลกเรื่องชีวิตหลังความตาย และการสร้างคุณความดีพร้อมทั้งสอนให้ฟังธรรมเทศนาเรื่องมหาเวสสันตรชาดกให้จบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ในวันเดียวแล้วจะได้ไปเกิดในสวรรค์และได้เกิดมาร่วมยุคพระศรีอาริยเมตไตยย์ จึงเป็นเหมือนบทนำของคัมภีร์ทศชาติเรื่องมหาเวสสันตรชาดก ส่วนมาลัยโปรดโลกเป็นเรื่องพระมาลัยเฉพาะตอนที่ไปยังนรกใหญ่ทั้ง ๘ หม้อ นิยมใช้เทศน์ในงานศพ เอกสารชุดนี้จัดอยู่ในหมวดจริยศาสตร์และมีเนื้อหาจักรวาลวิทยาตามที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต้นเรื่องคือมาลัยวัตถุนั่นเอง

๔.๓ อรุณวดี และฉคติทีปนี คัมภีร์อรุณวดีอ้างเอาเหตุการณ์สมัยพระพุทะเจ้าวิปัสสีเป็นปรารภเหตุให้พระพุทธเจ้าวิปัสสีและพระอภิภูอัครสาวกท่องไปในภพภูมิต่างๆ ส่วนฉคติทีปนีได้ผนวกเอาภพอสูรใต้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไปรวมไว้ในคติอสุรกาย ในการสำรวจคัมภีร์ใบลานที่ผ่านมายังไม่พบคัมภีร์อรุณวดีและฉคติทีปนีที่แต่งไว้ในชั้นบาลี

๔.๔ ไตรภูมิ และสังขยาโลก คัมภีร์ไตรภูมิฉบับล้านนามีโครงสร้างเนื้อหาต่างกับไตรภูมิพระร่วงของพระญาลิไท เพราะได้แทรกเอาประวัติศาสตร์พุทธศาสนาในลังกาทวีปเอาไว้เกินกว่าครึ่งของเนื้อหาทั้งหมด ส่วนคัมภีร์สังขยาโลกฉบับมาตรฐานมี ๔ ผูก มีเนื้อหาเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาประมาณร้อยละ ๓๐ ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องจริยธรรมคือผลของกรรม ส่วนพิกัดต่างๆ ในเนื้อหาส่วนที่เป็นจักรวาลวิทยาก็คลาดเคลื่อนไปจากคัมภีร์โลกธาตุฉบับหลัก เช่น จักกวาฬทีปนี อรุณวดี และฉคติทีปนีเป็นอันมาก

๔.๕ ปฐมกัป และโลกจินตาหรือโลกจินตาวลิณี เป็นธัมม์โทน คือคัมภีร์ผูกเดียวจบ เนื้อหาคัมภีร์ใช้ข้อมูลจากคัมภีร์แบบฉบับ คือจักกวาฬทีปนีมาอธิบายบรรยายภพภูมิและพิกัดต่างๆ “ปฐมกัป” มีเนื้อหาเด่นในการบรรยายสรรพคุณความเป็นสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า ส่วนโลกจินตอธิบายคณิตจินตา คือพิกัดการนับจำนานที่พิสดารต่างไปจากจักกวาฬทีปนี และบรรยายถึงขั้นตอนการมล้างกัปได้อย่างเห็นภาพชัดเจน ส่วนโลกจักขุ โลกจินตา คัมภีร์โลกธาตุล้านนาเรื่อง โลกจักขุ และโลกจินตาเป็นคัมภีร์ขนาด ๔ ผูกจบ เนื้อหาละเอียดกว่าโลกจินตาและปฐมกัป