ข้าวหลาม


ข้าวหลามของล้านนา หมายถึง ข้าวเหนียวสุกด้วยการเผาในกระบอกไม้ไผ่ป่า โดยการนำกระบอกไม้ไผ่ป่าที่ตัดเป็นปล้องๆ มาบรรจุข้าวเหนียวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ แล้วแช่น้ำไว้หนึ่งคืน ก่อนนำไปเผาเพื่อให้สุก คำว่า หลาม จึงมีความหมายเฉพาะถึงการนำอาหารชนิดใดก็ได้มาบรรจุในกระบอกไม้ไผ่แล้วเผาให้สุกนั่นเอง เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่ใช้ในเวลาเข้าป่า เพื่อไม่ให้เป็นการยุ่งยากในการนำภาชนะหม้อไหต่างๆ ติดตัวไปจนพะรุงพะรัง สามารถหาวัสดุธรรมชาติในป่ามาเป็นภาชนะหุงหาอาหารได้ง่ายๆ

วิธีทำ

วิธีทำ นำกระบอกไม้ไผ่ป่า ชนิดที่ใช้ทำข้าวหลามได้ดีโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า “ไม้ข้าวหลาม” คือไม้ไผ่ป่าที่มีเยื่อในกระบอกเหนียวนุ่มไม่ขาดง่ายและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ขนาดของกระบอกเลือกได้ตามชอบ แต่ไม่ควรใหญ่เกินไป เพราะทำให้ใช้ข้าวจำนวนมากและอาจไม่อร่อยเท่ากระบอกเล็ก แล้วนำข้าวใหม่ (ข้าวสารเหนียว) มากรอกลงในกระบอก เติมน้ำ กะให้ข้าวอิ่มน้ำพอดีปากกระบอก เหลือที่สำหรับปิดปากกระบอกด้วยใบตองม้วนแน่น หรือใบงา บางทีใส่งาลงไปด้วย และที่ขาดไม่ได้คือ เกลือ โดยเติมเกลือเล็กน้อยพอให้มีรสเค็มนิดๆ แช่ทิ้งไว้หนึ่งคืนโดยไม่ปิดปากกระบอก พอรุ่งเช้าจึงปิดปากกระบอกแล้วนำไปเผาในกองฟืนที่สุมจนมีถ่านแดง โดยตั้งเรียงกระบอกใกล้ๆ กองไฟ คอยหมุนกระบอกให้ข้าวสุกทั่ว กะจนข้าวสุกพอดีแล้วจึงนำออกมาพักพอให้เย็นแล้วปอกเปลือกไม้ไผ่ จากนั้นทุบกระบอกเบาๆ จนทั่วเพื่อให้ข้าวหลามกระเทาะออกมาและติดเยื่อดี เปิดรับประทานอุ่นๆ ข้าวหลามของล้านนามักจะทำรับประทานกันในฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ และเป็นช่วงที่ไม้ไผ่ป่ากำลังโตและยังไม่แก่เกินไป
นอกจากนี้ วัฒนธรรมล้านนาโบราณมักจะทำข้าวหลามเพื่อถวายทานให้กับพระ เป็นที่มาของงานบุญที่เรียกว่า “ทานข้าวใหม่- ข้าวหลาม”