แกงขนุน


แกงขนุน เป็นแกงที่ชาวล้านนานิยมกันทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์หรือปี๋ใหม่เมือง วันที่ถัดจากวันพญาวัน ถือเป็น “วันปากปี” คือเริ่มต้นปีใหม่วันแรก ชาวล้านนาจะนิยมทำแกงขนุนรับประทานกัน นัยว่าเป็นการเอาเคล็ดให้มีแต่บุญวาสนาหนุนส่งให้ได้พบแต่สิ่งดี ๆ ไปตลอดทั้งปี

วิธีทำ

แกงขนุน ใช้ขนุนลูกขนาดเหมาะมือ ยังไม่แก่จัดเกินไป ปอกเปลือกขนุนออก ซับยางขนุนด้วยถุงพลาสติกที่ใช้หิ้วจนสะอาดหมดจด สับขนุนแล้วซอยเป็นชิ้นยาวเรียว หรือเป็นชิ้นพอคำก็ได้ แช่น้ำไว้ให้ยางขนุนออกให้หมด ตั้งหม้อให้น้ำเดือด ใส่ขนุนลงไป ต้มให้เกือบสุก โขลกพริกแกง มีพริกแห้ง ๔-๗ เม็ด ตามชอบ กับกระเทียม หอมแดง ข่า ตะไคร้ กะปิ โขลกให้ละเอียดเข้ากันดี ตักพริกแกงลงในหม้อ ปิดฝา หากใส่กระดูกหมูก็ให้ต้มกระดูกหมูกับขนุนให้สุกก่อน เมื่อขนุนและหมูสุกเปื่อย ใส่มะเขือเทศลูกเล็ก ผ่าครึ่งครึ่งสัก ๕-๖ ลูก ปรุงรสด้วยน้ำปลา ใส่แคบหมูทุบหยาบ ๆ สักหนึ่งกำมือ คนให้เข้ากัน ปิดฝาไว้สักครู่ เติมผักชะอมเด็ดสั้นกับใบชะพลู ผักชีฝรั่งหั่นหยาบ ๆ ลงไป คนแล้วยกลงตักรับประทานได้ แกงขนุนใส่ทั้งกระดูกหมูและแคบหมูจะทำให้รสชาติของแกงกลม-กล่อมยิ่งขึ้น
สำหรับในบางท้องถิ่นอาจมีชื่อเรียกแกงขนุนและวิธีการแกงต่างไปจากนี้ เช่น ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เรียกว่า หมาก-ลางหุง เป็นภาษาไทใหญ่ โดยมีส่วนประกอบหลัก คือ ขนุนดิบ หมูสามชั้น หรือกระดูกหมู มะเขือเทศ ใบชะอม หรือ ชะพลู หรือ ใบผักชีฝรั่ง พริกแห้ง กะปิ ถั่วเน่า หอมแดง กระเทียม

          วิธีทำหมาก-ลางหุง (แกงขนุน) ปอกเปลือกขนุน สับเป็นชิ้นเล็กๆ ล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปต้มให้สุกจนเปื่อย นำพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ และถั่วเน่า โขลกให้ละเอียด นำน้ำพริกที่โขลกไว้ลงไปผัดกับหมูสามชั้นที่หั่นไว้แล้ว พร้อมกับมะเขือเทศให้ได้กลิ่นหอม นำน้ำพริกที่คั่วไว้ลงใส่ในหม้อขนุน พอเดือดชิมรสตามใจชอบ ยกลงเติมด้วยใบชะอม หรือใบชะพลู หรือผักชีฝรั่ง อย่างใดอย่างหนึ่ง