ประเภทของงานช่างล้านนา


"ช่าง" ในสังคมล้านนาแต่โบราณหมายถึง ผู้ชำนาญ ในสาขาอาชีพของตน ล้านนาได้มีประเภทผู้ชำนาญในงานช่างพุทธศิลป์ไว้อันได้แก่ ช่างไม้ ช่างหล่อ ช่างปูน ช่างรัก ช่างต้อง ฯลฯ และช่างนั้นยังหมายถึงรวมไปผู้ที่มีความชำนาญทางด้านนักดนตรี ช่างจ๊อย ช่างซอ ช่างทอ และช่างสาน ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน อื่น ๆ อีกด้วย ช่างที่ปรากฏใช้ในล้านนาแต่ดั้งเดิมโดยเฉพาะในจารึกในเอกสารทางประวัติศาสตร์ใช้คำว่า “ช่าง” นำหน้าผู้ชำนาญงานในประเภทต่าง ๆ ส่วนคำว่า “สล่า” หมายถึงช่างเช่นกัน นิยมเรียกหลังจากการติดต่อสัมพันธ์กับพม่าในล้านนา สล่ามาจากคำว่า “สย่า” ในภาษาพม่าหมายถึง ช่างผู้ชำนาญ มีความเชี่ยวชาญชั้นครูเช่นเดียวกับคำว่าช่างในภาษาล้านนา และเป็นที่นิยมแพร่หลายกันในช่วงยุคหลัง

งานช่างพุทธศิลป์ล้านนาแบ่งออกเป็นประเภท ๆ งานช่าง ดังนี้

  • 1. ช่างไม้ คือช่างผู้ชาญการก่อสร้างอาคารไม้ เช่นวิหาร อุโบสถ และบ้านเรือน
  • 2. ช่างหล่อ คือช่างผู้ชาญการหล่อสำริด เช่นพระพุทธรูป ระฆัง ผอบเจดีย์บรรจุพระธาตุ หรือเครื่องดนตรีสำริด
  • 3. ช่างปั้น คือช่างผู้ชาญการปั้นประติมากรรมปูนสด ปั้นลวดลายตกแต่งเจดีย์ พระพุทธรูป หรือซุ้มโขงล้านนา
  • 4. ช่างรัก - ช่างหาง คือช่างผู้ชาญการตกแต่งอาคารศาสนสถานต่างๆที่เรียกว่า “ลายคำ” โดยการลงรักและชาดพร้อมกับปิดทองคำเปลว และงานรักประเภทเครื่องเขิน
  • 5. ช่างต้อง คือช่างผู้ชาญการฉลุโลหะ เงิน ทอง ทองแดง หรือเป็นงานกระดาษให้เป็นลวดลายต่างๆ เช่น การต้องฉัตร หรือการต้องตุง
  • 6. ช่างเหล็ก คือช่างผู้ชาญการหลอม และตีเหล็กให้เป็นเครื่องมือการเกษตร และอาวุธ
  • 7. ช่างทอง คือช่างผู้ชาญการหล่อโลหะประเภททองแดง เช่นฆ้อง กระดิ่ง และกังสดาล
  • 8. ช่างแกะสลัก คือช่างผู้ชาญการแกะสลักลวดลาย และช่างแกะภาพนูนต่ำ และนูนสูงบนไม้ หรือการแกะพระพุทธรูป
  • 9. ช่างเคิ่ง หรือกลึง คือช่างผู้ชาญการกลึงให้เป็นรูปทรงต่างๆ โดยการใช้เครื่องมือกลึง เป็นแบบที่ใช้กำลังแรงคนทำการชักกลึงวัสดุใช้กลึงไม้ งาช้าง และการทำกลอง
  • 10. ช่างคำ คือช่างผู้ชาญการทำทองคำในการทำพระพุทธรูป ส่วนประดับงานพุทธศิลป์ และทองรูปประพรรณต่าง ๆ
  • 11. ช่างเงิน คือช่างผู้ชาญการช่างทำเครื่องเงิน พระพุทธรูป และเครื่องประกอบพิธีกรรมที่ใช้เงินเป็นวัสดุ ได้แก่ หัวใจพระพุทธรูป และผอบเงินบรรจุพระธาตุ
  • 12. ช่างแต้ม (จิตรกรรม) คือช่างผู้ชาญการเขียนภาพฝาผนัง โบสถ์ วิหารต่างๆ ด้วยเรื่องราวความเชื่อทางพระพุทธศาสนา เช่นพุทธประวัติ นิทาน ชาดก และรวมไปถึงภาพเล่าเรื่องวิถีชีวิตทางสังคม