กาลครั้งหนึ่ง มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นคนปากเสีย อยู่กับใครก็ไม่ได้เพราะปากเสีย ทำให้ทุกคนที่อยู่ใกล้เคียงเดือดร้อนไปหมด ผู้หญิงคนนี้เป็นแม่ม่าย สามีตายไปด้วยโรคหัวใจ เพราะเมียด่าทุกวันๆ นั่นเอง
วันหนึ่ง มีประกาศจากเจ้าเมืองว่าต้องการแม่ครัวจึงหาคนที่ทำอาหารเก่งไปแข่งขันทำอาหาร จะได้ไปเป็นแม่ครัวอยู่ในวัง แม่ม่ายคนนี้ก็ทำอาหารเก่ง จึงไปแข่งขันด้วย และปรากฎว่าพระยาเจ้าเมืองติดใจในฝีมือทำอาหารของแม่ม่ายจึงรับไปเป็นแม่ครัว แต่พอเข้าไปทำงานในวังก็มีปัญหากับคนอื่นๆ เพราะความปากเสียของตัวเองนั่นเอง แต่คนงานคนอื่นๆ ก็ไม่กล้าไปบอกใคร เพราะพระยาเจ้าเมืองโปรดปรานฝีมือการทำอาหารของแม่ม่ายคนนี้
แม่ม่ายทำงานอยู่ในวังนานอยู่หลายเดือน พระยาเจ้าเมืองก็ป่วยเป็นโรคเหน็บชา หมอคนไหนหายามารักษาก็ไม่หาย จนได้หมอเฒ่าคนหนึ่งแนะนำว่า
“พ่อพระยาเป็นเจ้า พ่อพระยาเป็นโรคเหน็บชา โรคนี้เขาว่าให้เอาแกลบมาแช่น้ำกินหรือไม่ก็เอามาปรุงอาหารเสวยสักเจ็ดแปดวัน อาการก็จะหายเจ้าข้า”
พ่อพระยาก็หนักใจเพราะตนเองนั้นเป็นถึงพ่อเมืองจะให้มากินแกลบได้อย่างไร
แต่ถ้าไม่ กิน อาการเจ็บป่วยก็จะไม่หาย ก็เลยเรียกแม่ม่ายซึ่งเป็นแม่ครัวในวังมาเข้าเฝ้าแล้วกระซิบ บอกว่า
“นี่ แม่ครัว มึงน่ะไปเอาแกลบมาแอ็บ(ห่อหมก)ให้กูกินทีเถอะ กูเป็นโรคเหน็บชาหมอบอกว่าต้องกินแกลบถึงจะหาย แต่มึงห้ามไปบอกใครนะ อย่าให้ใครรู้เด็ดขาด กูเป็นถึงพระยา เจ้าเมือง ถ้าใครรู้เข้าก็จะว่าพระยาเจ้าเมืองเป็นหมู ศักดิ์ศรีความเป็นเจ้าเมืองของกูจะถดถอยไป คนก็จะดูถูกเอาได้ ถ้ามึงหลุดปากไปบอกใคร กูจะลงโทษให้หนัก”
แม่ครัวปากเสียก็รับปากแล้วทำแอ็บแกลบ(ห่อหมกแกลบ)ให้พระยาเจ้าเมือง
เสวยทุกวันๆ ได้เจ็ดวัน อาการของโรคเหน็บชาก็เบาบางลงและหายไปในที่สุด แต่แม่ครัวก็อึดอัดใจมาก เพราะมันเป็นคนปากเสีย อยากจะบอกใครก็ไม่ได้เพราะพ่อพระยาบอกว่าถ้าความรู้ถึงหู คนอื่นจะลงโทษให้หนัก
วันหนึ่ง แม่ครัวก็มีโอกาสกลับไปเยี่ยมบ้านของตนที่บ้านนอก ระหว่างทางที่กลับบ้านก็หยุดพักใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ด้วยความอึดอัดใจที่อยากจะพูดเรื่องพระยากินแกลบ ก็เลยไปพูดเรื่องพระยากินแกลบให้ต้นไม้ฟังว่า
“พระยากินแกลบแอ๊บ พระยากินแกลบแอ๊บ”
นางแม่ครัวพูดซ้ำๆ อย่างนั้นจนสาแก่ใจ แล้วก็กลับไปบ้านของตน พอกลับจาก
บ้านมา ทำงานในวัง ต่อมาไม่นานกลองในวังนั้นผุพังไป พระยาเจ้าเมืองก็อยากจะได้กลองใบใหม่ก็ให้เสนาอำมาตย์ไปหาไม้ดีๆ มาขุดทำกลอง
เหล่าเสนาก็ไปพบกับต้นไม้ต้นที่นางแม่ครัวมาระบายนั่นพอดี ก็ตัดไม้มาขุดทำเป็นกลอง พอหุ้มหนังกลองเสร็จ ก็ไปทูลเชิญพ่อพระยามาฟังเสียงกลองว่าจะถูกใจไหม พระยาเจ้าเมืองก็อนุญาตให้ตีกลอง พอตีลงไปกลองก็ร้องออกมาว่า
“พระยากินแกลบแอ๊บๆๆๆ”
พระยาเจ้าเมืองได้ยินดังนั้นก็โกรธมาก จึงเรียกนางแม่ครัวให้มาเข้าเฝ้าแล้วถามว่า
“มึงไปเล่าให้ใครฟังบ้างว่ากูกินแกลบแอ๊บ”
นางแม่ครัวก็ปฏิเสธ
“ข้าเจ้าไม่ได้ไปเล่าให้ใครฟังเลยเจ้าข้า”
“ถ้ามึงไม่ได้ไปเล่าให้ใครฟัง ทำไมตอนที่ตีกลองใบใหม่มันถึงร้องว่ากูกิบแกลบแอ๊บล่ะ”
นางแม่ครัวก็เลยสารภาพปากคอสั่นว่าเคยไปพูดให้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งฟัง พระยาเจ้าเมืองโกรธมาก จึงสั่งให้ประหารนางแม่ครัวเสีย
“มึงไม่ควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ถ้ามึงยังอยู่เรื่องนี้ก็จะกระจายไปเรื่อยๆ ความไม่ดีไม่งามก็จะแพร่ออกไป ไม่เฉพาะเรื่องนี้ แต่คนปากเสียอย่างมึง ต่อไปก็คงจะสนส่อให้ใครต่อใครทะลาะกัน เรื่องไม่ดีไม่งามในบ้านเมืองก็จะแพร่หลายไปเต็มบ้านเต็มเมือง”
นางแม่ครัวจึงถูกประหารตายไปเพราะความปากเสียของตน นิทานเรื่องนี้จึงเป็นคติเตือนใจว่า ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่างนำเข้า เพราะมันจะเผาผลาญให้เดือดร้อนวอดวายกันไปหมด