จำนวน 5 เรื่อง

นิทานเมืองเงี้ยว

นิทานศาสนา
มีศรัทธาชาวบ้านมาที่วัดแล้วเข้ามาถามท่านเจ้าอาวาส เขาบอกว่าพระสงฆ์สองรูปเรียนจบพระธรรมมา รูปหนึ่งจบแล้วหนีเข้าป่าเข้าดง โลกนี้จะไม่เกี่ยวข้องอะไรซักอย่าง อีกรูปหนึ่งอยู่บ้าน รูปที่อยู่บ้านได้กินเนื้อปิ้ง ลาบ แกงอ่อม ไปไหนได้ขี่รถ เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วมีการถามว่ารูปหนีเข้าป่ากับรูปที่อยู่กับบ้านใครจะดีกว่ากัน ท่านก็บอกว่า “ถ้าเข้าโบสถ์ เข้าอุโบสถ แล้วนั้นดีทั้งสอง” คนถามก็ถามว่า “มันก็ถูก ผมยังไม่ได้เป็นทิดผมยังไม่ได้บวช ไม่ได้เข้าอุโบสถ ขอถามท่านว่าพระสงฆ์สองรูป รูปที่หนีเข้าป่านั้นรู้จบหมดทุกอย่างละ รูปอยู่บ้านก็รู้จบเหมือนกัน รูปที่อยู่บ้านนั้นได้กินดีอยู่ดีได้เห็นหลายอย่าง รูปที่เข้าป่านั้นยอมตาย ยอมให้เสือกิน งูจะขบก็ตาม ยอมทุกอย่าง สองรูปนั้นรูปไหนจะดีกว่า” ท่านก็บอกว่า “ถ้าเข้าอุโบสถแล้วดีทั้งสอง” “โฮะ ขอให้เหลือรูปเดียวเถอะท่าน” พระสงฆ์ก็ยังบอกว่าดีทั้งสอง มันก็เลยหนีไปนั่งกับพวกของตนเอง ทีนี้มันก็เข้าไปอีก “โอ ผมขอถามท่าน พระสงฆ์สองรูปๆ อยู่บ้านกับรูปอยู่ป่า รูปไหนดีกว่าดีกว่ากัน ท่านก็ไม่ตอบผม ท่านก็ว่าดีทั้งสอง ผมขอให้เหลือรูปเดียวนะ” พระท่านก็บอกว่า “โอ้ พ่อออกศรัทธารู้ยังไงก็ว่ามาเถอะ เข้าโบสถ์แล้วมันก็ดีทั้งสองนั่นแหละ พ่อออกศรัทธารู้ยังไงก็ว่ามา” พ่อออกศรัทธาก็อธิบายว่า “พระสงฆ์รูปที่อยู่ในป่านั้น ท่านหน่ายโลก เอาตัวเองรอดครับ ถ้าตายความรู้ที่เรียนมาก็เอาไปเน่าทิ้งหมด ตนอยู่บ้านนี้ดีครับไปไหนก็ได้ขี่รถ กินเนื้อกินปลา ความรู้ท่านเอามาเทศน์ในวิหารนี่แหละ เขาทั้งหลายได้รู้ได้จดจำเอาไปสอนลูกสอนหลาน เขาสามารถทำให้ คนห้าหกเจ็ดร้อยมาฟัง เพื่อที่จะสั่งสอนคนเราให้ปฏิบัติ ขนาดพระพุทธเจ้าปรินิพพานไป แล้วยังกลัวว่าคนเรานี้ จะไม่เข้าถึงนิพพานท่านจึงให้สาวกท่านสั่งสอนพระธรรมของท่าน เพื่อมนุษย์เราทั้งนั้น พระธรรมนั้นดีกว่า” “พระธรรมนั้นดีกว่ายังไง” “ดีกว่าสิ มันดีกว่ามันรู้มาก คนรู้มากก็จะได้ไปกับพระพุทธเจ้า”

ประวัติกินสลาก

นิทานศาสนา
ประเพณีการกินสลาก หรือประเพณีสลากภัตรนี้ มีประวัติความเป็นมาเล่าสืบต่อกันมาว่าในสมัยพุทธกาล มีเด็กเลี้ยงควายอยู่ห้าร้อยคนเลี้ยงควายอยู่ในทุ่งนา วันหนึ่งพระ พุทธเจ้าและบรรดาสาวกทั้งหลายก็เสด็จผ่านมาไปพักยั้งที่ศาลาริมทุ่ง เด็กเลี้ยงควายเห็นพระพุทธเจ้าก็มีจิตอันเป็นกุศลอยากจะถวายทานข้าวห่อที่ตนห่อมานั้นให้กับพระพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว พระพุทธเจ้าเห็นดังนั้น จึงกล่าวกับเด็กเลี้ยงควายว่าให้แต่ละคนเอาใบไม้มาเขียนชื่อของตนแล้วให้รวบรวมใบไม้นั้นมาให้พระองค์ พระองค์จะแจกจ่ายใบไม้เหล่านั้นให้กับ พระสงฆ์สาวกของพระองค์เอง พระสงฆ์รูปใดได้ใบไม้เขียนชื่อใคร ก็ให้คนนั้นเอาห่อข้าวไปถวายทานแก่พระสงฆ์รูปนั้นๆ เพราะการทำทานไม่ควรจะเลือกกระทำ เด็กเลี้ยงควายทั้งห้าร้อยคนก็เลยเขียนชื่อของตนใส่บนใบไม้ ถ้าพระสงฆ์รูปใดได้ใบไม้ของตนไป เด็กเลี้ยงควายคนนั้นก็จะเอาห่อข้าวไปถวายทานให้พระสงฆ์จนครบทุกรูป เหตุการณ์นี้จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดการทานสลากภัตรมาจนถึงทุกวันนี้

อกุศลบ่หมดโปรดไม่ได้

นิทานศาสนา
กาลครั้งหนึ่งมีสองผัวเมียยากจนคู่หนึ่งยากจนทุกข์ยากเป็นอันมาก ไม่ว่าจะตั้งใจทำมาหากินยังไงก็ไม่ร่ำรวยขึ้นมาได้สักที มิหนำซ้ำยังยากจนลง ทุกทีๆ แต่ถึงจะยากจนแค่ไหน แต่สองผัวเมียคู่นี้ก็ใส่ข้าวพระเจ้าทุกวันไม่ขาด ข้าวพระเจ้า ก็คือ ข้าวและอาหารที่แบ่งใส่ถ้วยชามเล็กๆ เพื่อถวายให้กับพระพุทธรูปประจำบ้านชาวล้านนามักจะสร้างหิ้งพระไว้ในบ้าน ทุกเช้าๆ ก่อนที่ทุกคนจะทานอาหารเช้า จะต้องไป "ใส่ข้าวพระเจ้า" หรือถวายข้าวพระพุทธรูปเสียก่อนถึงจะกินข้าวได้ หากใครกินข้าวก่อนที่จะใส่ข้าวพระเจ้า ก็จะเป็นบาปกรรมเหมือนกับเวลาที่ไปแอบกินข้าวที่เตรียม จะถวายให้พระสงฆ์นั่นแหละ สองผัวเมียยากจนคู่นี้ แม้ว่าจะลำบากยากจนอย่างไรก็พยายามใส่ข้าวพระเจ้าทุกวันไม่ขาด ถวายข้าวเสร็จก็ขอพรให้ร่ำให้รวย แต่ก็ไม่มีใครมา โปรดเลย ทั้งคู่จึงยากจนอยู่อย่างนั้น แต่แม้ว่าจะไม่มีใครมาช่วยเหลือ แต่เทวดาที่อยู่บนสวรรค์นั้นก็เห็นว่าสองผัวเมียนี้น่า สงสารนัก แม้จะยาก จนแต่ก็ยังทำบุญถวายข้าวพระเจ้าไม่เคยขาด เทวดาองค์หนึ่งจึงเอ่ยขึ้น มาว่า "โอ ข้าเห็นสองผัวเมียคู่นี้มันใส่ข้าวพระเจ้าทุกวัน ข้าว่าจะลงไปโปรดมันเสียที" แต่เทวดาองค์หนึ่งก็ค้านขึ้นมาว่า "สองผัวเมียนี้ยังมีบาปมีกรรม อกุศลที่ติดตัวมันมายังไม่หมด ท่านจะไปโปรดยังไม่ได้นะ ท่าน" แต่เทวดาองค์ที่ตั้งใจไว้ว่าจะไปโปรดสองผัวเมียก็ดึงดันว่าจะลองดูก่อน "เอาเถอะ ข้าจะลองดูก่อน ข้าจะเอาแก้วแหวนเงินทองไปวางไว้ที่ถ้วยข้าวพระเจ้ามันนั่นแหละ ยังไงมันมาเอาข้าวพระเจ้ามันก็ต้องเห็น" คิดดังนั้นแล้ว เทวดาองค์นั้นก็เสกแก้วแหวนเงินทองไปกองไว้ที่ข้าวพระเจ้าหน้าหิ้งพระ แต่เช้า วันนั้นสองผัวเมียก็ตื่นสาย มีอีกาบินผ่านบ้านของสองผัวเมียเห็นแก้วแหวนเงินทองส่องแสงวิบวับล่อตา จึงคาบไปไว้ที่รังของมันที่อยู่ต้นมะขามโน่นเสีย เหล่าเทวดาเห็น ดังนั้น เทวดาองค์หนึ่งก็กล่าวว่า "เห็นไหมล่ะ ข้าว่าแล้ว อกุศลมันยังไม่หมด โปรดยังไงมันก็ไม่ได้" "เอาเถอะ ข้าจะลองดูอีกที ข้าจะเอาไหเงินไหทองคำไปวางไว้ที่ประตูบ้านมัน พอมันเปิดประตูออกมายังไงก็ต้องเห็น" แต่เช้าวันนั้น สองผัวเมียก็ตื่นสายอีก ชาวบ้านเดินผ่านมาหน้าบ้านเห็นไหเงินไหทองกองอยู่ก็หอบเอาไปเสีย สองผัวเมียนั้นก็ไม่ได้เงินทองที่เทวดาเนรมิตให้เสียที เทวดาองค์เดิมก็ยังไม่ละความตั้งใจ จึงเนรมิตแหวนทองวงงามไปวางไว้ที่หิ้งข้าวพระเจ้า ครั้งนี้ผู้เป็นเมีย เห็นแหวนวงนั้นแล้วก็ดีใจมาก ใส่แหวนทองไปอวดชาวบ้านทั่วไปหมด ชาวบ้านกำลังซักผ้าอยู่ที่ท่าน้ำก็ไปอวดเขาจนเผลอทำแหวนหลุดจากนิ้ว ตกลงในไปน้ำแม่ หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอเพราะปลางับไปกินเสียแล้ว เมื่อเทวดาทั้ง 4 องค์ที่คอยช่วยเหลือเห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงถอดใจและคุยกันว่าสองผัวเมียคู่นี้มันช่างโชคร้ายเสียจริงๆ บาปกรรมอกุศลที่สองคนนี้เคยสร้างไว้คงจะมีมากจริงๆ จะโปรดจะเมตตาอย่างไรก็ไม่ได้ จึงปล่อยให้สองผัวเมียยากจนต่อไป รอวันที่อกุศลกรรมมันหมดลงแล้วจึงจะช่วยเหลืออีกครั้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอีกนานแค่ไหน

อานิสงส์ของการทำบุญ

นิทานศาสนา
กาลครั้งหนึ่ง ในสมัยพุทธกาลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีสหายสามคน วันหนึ่งก็ถึงวาระของสามสหายจะได้ทำบุญ สหายทั้งสามคนนั้นก็ได้ทำบุญด้วยข้าวสลาก สหายคนแรกทำบุญอานิสงส์ข้าวสลากหนึ่งกอง สหายคนที่สองทำบุญด้วยข้าวสลากสองกอง และสหายคนที่สามทำบุญข้าวสลากสามกอง เมื่อสหายทั้งสามคนตายไป สหายคนที่หนึ่ง ก็ได้ไปเกิดเป็นพญาอยู่ในเมืองจุตถะคาม คนที่สองได้ไปเกิดเป็นพญาค่างเฒ่าอยู่ในป่า คนที่สามได้ไปเกิดเป็นพญาอยู่ในเมืองพาราณสี ฝ่ายพญาที่ทำบุญทานสลากกองเดียวที่เกิดเป็นพญาอยู่ในเมืองจตุถะคาม มีมเหสีมิ่งขวัญอยู่ขนาบข้างวันนั้นพญาก็คิด ขึ้นมาในใจว่า “ในโลกนี้ไม่มีใครจะพิชิตบุญญาธิการของพญาจตุถะคามได้ เพราะสามารถหักเหล็กได้เป็นท่อนๆ” พญาจตุถะคามก็บอกแก่มเหสีว่า “ดูรา แม่นาง ตัวข้านี้ไม่มีใครที่จะเทียบเท่ากับตัวข้าที่สามารถหักเหล็กได้เป็นท่อน ๆ ได้” มเหสีพญาจตุถะคามก็แย้งว่า "ดูรา เจ้าพี่แห่งข้า ไม้พุทธานี้สูงแท้ ไปในป่าไม้ดงหน้า ป่าหน้าก็คงจะสูงเหนือยิ่งกว่าต้นนี้" พญาจตุถะคามผู้เป็นสามีได้ยินดังนั้นก็โกรธ ก็ย้อนถามมเหสีไปว่า "ดูรา แม่นางเหย ถ้าหากแม่นางยังเห็นว่ามีคนที่เก่งกว่าผู้พี่ไปแล้ว ก็ให้แม่นางไปติดตามผู้ที่นั้นมาแข่งอิทธิฤทธิ์และวิชากับพี่ภายในเจ็ดวัน" มเหสีของพญาจตุถะคามได้ฟังดังนั้นก็ให้คนใช้ไปเสาะหาผู้ที่มีความรู้ความ สามารถ เหล่าคนใช้ก็ได้ไปพบกับพญาค่างเฒ่า ที่อยู่ในป่า จึงพามาเข้าเฝ้าแล้วกราบทูลพญาจตุถะคามว่า “ได้มาแล้วเจ้าข้า มาอยู่ที่ลาน พร้อมที่จะทดลองวิชาอาคมกันแล้วเจ้าข้า“ พญาค่างเฒ่าก็รออยู่ที่ข่วงหรือลานกว้าง ฝ่ายพญาจตุถะคามก็รีบลงมาจากปราสาทเพื่อจะมาแข่งฤทธิ์กับพญาค่างเฒ่า เมื่อพญาจตุถะคามมาถึงข่วงประลอง พญาค่างเฒ่าก็เอ่ยว่า “เอาเถิด เจ้าเมืองจตุถะคาม ขอให้พ่อพญามาอยู่บนหางข้าก่อน แล้วพ่อพญาจะรู้ว่าเราสองคนนี้ใครจะดีเด่นและยิ่งใหญ่กว่าใคร “ พญาเจ้าเมืองจตุถะคามก็เข้าไปนั่งยองๆ อยู่บนหางพญาค่างเฒ่า พอพญาค่างเฒ่ากระดิกหางแค่ครั้งเดียวพญาจตุถะคาม ก็ปลิวว่อนไปตกยังเมืองพาราณสี พญาเจ้าเมือง พาราณสีเห็นดังนั้นก็เอ่ยขึ้นว่า “โอ เหตุใดพญาเจ้าเมืองจตุถะคามจึงได้พลัดบ้านพลัดเมืองมาถึงเมืองพาราณสีนี่ได้เล่า“ พญาจตุถะคามก็เล่าความเป็นไปให้เจ้าเมืองพาราณสีฟัง ทีนี้พญาพาราณสีรู้เรื่องแล้วก็กล่าวว่า “โอ ไม่เป็นไร พญาจตุถะคาม เอาเถอะ เดี๋ยวเราจะส่งพ่อพญากลับถึงเมืองจตุถะคาม ขอให้พ่อพญาขึ้นมานั่ง บนมือของข้าเถอะ" พญาจตุถะคามที่ปลิวมาตกยังเมืองพาราณสีก็เกิดเป็นห่วงบ้านเมืองขึ้นมาก็เลยขึ้นไปนั่งอยู่บนอุ้งมือของพญาพาราณสี พญาพาราณสีก็เป่าให้ไปตกยังเมืองจตุถะคามเหมือนเดิม เหตุที่พญาแต่ละคนมีพละกำลัง มีความสามารถต่างกันก็เพราะในชาติก่อนได้ทำบุญสร้างกุศลมาไม่เท่ากันนั่นเอง

อานิสงส์ผางประทีป

นิทานศาสนา
กาลครั้งหนึ่ง มีชายทุคตะคนหนึ่ง จะเข้าป่าไปหาฟืนมาขายเป็นอาชีพ ก็ได้ห่อข้าวไปด้วยหวังว่าจะได้กินระหว่างทาง เมื่อไปถึงกลางทางก็ได้พบปะกับมหาเถรเจ้าบิณฑบาต ก็ได้มาคิดว่าตนเองได้ห่อข้าวกับแคบหมู ถ้าได้เอาไปใส่บาตรถวายพระ ก็คงจะดี ก็ได้เอาห่อข้าวห่อนั้นถวายกับพระมหาเถรเจ้าแล้วก็หาบฟืนไปขาย วันนั้นเป็นเดือนยี่ขึ้นสิบสี่ค่ำ ฝ่ายพระมหาเถรเจ้าได้รับข้าวห่อของทุคตะไปแล้ว ก็ฉันข้าวที่ชายทุคตะถวายให้แล้วมาคิดว่า ชายผู้นี้ได้เอาแคบหมูถวายกับห่อข้าวนั้น เราจะบีบเป็นน้ำมันใส่ผางประทีปเพื่อบูชาในวันเพ็ญหรือยี่ หรือยี่เป็ง คิดแล้วพระมหาเถรเจ้าก็บีบ แคบหมูเพื่อเอาน้ำมันใส่ผางประทีปในวันนั้น ก็มีมหาเศรษฐีได้นำน้ำมันมาถวายให้กับพระมหาเถรเจ้าเหมือนกัน พอตกกลางคืนก็เกิดแผ่นดินสะเทือนไหว มหาเศรษฐีก็คิดว่าผางประทีปของตนที่ถวายให้พระมหาเถรเจ้านั้น มีอานิสงส์มากนักก็รีบมาไหว้พระมหาเถรเจ้า แล้วถามว่าเป็นเพราะว่าน้ำมันที่ที่ตนนำมาถวายใช่หรือไม่ ท่านมหาเถรเจ้าได้ตอบว่าบ่ใช่ เป็นแต่ชายทุคตะนั้นเอาห่อข้าว มากับแคบหมูทานวันนั้นหื้อแก่เฮา เราบีบเอาน้ำมันหมูนั้นใส่ผางประทีปบูชา แผ่นดินก็จึงไหวขึ้นมา เพราะ อานิสงส์ที่ชายทุคตะได้เอาห่อข้าวเป็นทานในวันแรมสิบสี่ค่ำนั้น พอมหาเศรษฐีได้ฟังดังนั้นก็เลยเสียอกเสียใจ อยู่ที่ไหนเกิดความลังเล จึงคิดจะจุดเทียนบูชาเองจึงเรียกเสนาอำมาตย์มาพร้อมกันแล้วกล่าวว่าสมควรปู่จาอีก เลยใช้ให้เสนาขุดหลุมกว้าง 3 วา ใช้เทียนเท่าลำตาลเพื่อจุดบูชา บอกให้เสนาทั้งหลายว่า ใครคนใดอย่า ดิ้น ให้พากันฟังอาการบูชานี้ แผ่นดินจักไหวแน่ พอดีการบูชาแล้วเสร็จก็ไม่ไหวเลย มหา เศรษฐีจึงกลับไปหามหาเถรเจ้า "ข้าพเจ้าปู่จาแล้วบ่มีแผ่นดินไหวอย่างใด” พระมหาเถรเจ้าได้บอกหื้อเศรษฐีว่า "การที่เป็นแผ่นดินไหวนั้น เป็นเพื่อชายทุคตะท่านเลยปู่จาแล้วจึงจักไหว ผลอานิสงส์ทานของห่อข้าวกับแคบหมูของทุคตะวันนั้น" เศรษฐีก็เลยขอแบ่งบุญกับท่านเถรเจ้า ท่านเถรเจ้าก็บอกให้เศรษฐีว่า “ท่านจงไปขอกับชายทุคตะนั้นเถอะ การขอแบ่งบุญนั้นให้มีปัจจัยสี่แลก เปลี่ยน เอาแลกเปลี่ยนกันจึงจะได้ " เศรษฐีอยากได้บุญก็เอาที่อยู่ที่อาศัย ข้าวน้ำ ผ้าครัว ข้าวของเงินทองมามอบให้ชายทุคตะทันที ครานั้นชายทุคตะก็ได้เสวยผลบุญกุศลอันนั้น ด้วยอำนาจที่ได้ทานข้าวห่อกับ แคบหมูจนได้เป็นเศรษฐีถึงวันนี้