ดอยปูคา



          ดอยลูกนี้แต่ก่อนยังไม่มีชื่อ พญาคาเป็นคนเมืองสิบสองปันนา มาเอาเมียชื่อนางแก้วฟ้าคนเมืองเย็น ก็ยกครอบครัวกันมาราว 120 คน รู้ข่าวที่เวียงตองนี้เห็นเป็นที่เหมาะสม จึงมาพักอยู่ เดิมที่นี่เป็นบ้านห่างของเขมร มีคนเขมรมาอยู่ส่วนหนึ่ง อีกสองส่วนหนึ่งหนีไปแล้ว พญาคาก็มาดู เห็นว่าสมควรมาตั้งบ้านเมืองอยู่ ต่อมาคนก็มาอยู่กันมากเข้าๆ คนเขมรที่อยู่ที่นี่ไม่มีผู้ปกครอง พญาคาก็เลยตั้งนายซ้ายให้ปกครองเขมรอยู่ที่บ้านหัวทุ่ง เขตนี้จึงมีพญาภูคาปกครองและอีกเขตหนึ่งมีพญาซ้ายปกครอง ต่อมาพญาซ้ายเสียชีวิต ชาวเขมรจึงกลับคืนไปอยู่บ้านเกิดเมืองนอนเดิมของตน ส่วนบริวารของพญาซ้ายก็ขึ้นไปอยู่ที่บ้านนาซ้าย ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “บ้านนาซาย” ส่วนเวียงตองก็เรียกชื่อว่า “บ้านป่าตอง” มาจนถึงเดี๋ยวนี้

          หลังจากเจ้าพ่อภูคาสิ้นชีวิต เขาก็เอากระดูกไปฝังไว้บนดอย (ชลประทานปัจจุบัน) แล้ว ก่อธาตุกลมไว้ ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ชื่อของท่านอยู่คู่กับบ้านเมืองตลอดไป ก็เลยตั้งชื่อดอยลูกนี้ว่า “ดอยภูคา” เขามีศาลเจ้าพ่อภูคาอยู่ที่ชลประทาน ต้องขึ้นเขาไป เชื่อว่าที่นี่ท่านมารักษาชั่วคราว แต่ที่อยู่ของท่านจริงๆ คือบนดอยภูคา เป็นศาลแรก เขาจะมีการเลี้ยงทุกปี แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีการเข้าทรงเพราะคนทรงตายไปแล้ว มีแต่พ่อจ้ำคือคนเชิญ เช่น ถ้าจะแก้บน ก็นำดอกไม้ธูปเทียนไปหาพ่อจ้ำ พ่อจ้ำจะเป็นคนทำพิธีบอกกล่าวเจ้าพ่อภูคา เจ้าพ่อคำเขียว เจ้าผานอง ว่าวันนี้ลูกบ้านหลานจอง ก็มีดอกไม้ธูปเทียนมาบอกกล่าว ท่านไปอยู่แห่งหนใดก็ขอเชิญมาอยู่หอศาล มายังราษฎร เครื่องคาวของหวานก็ได้นำมาถวาย พ่อจ้ำจะเป็นคนทำพิธีเชิญ ส่วนที่นั่งก็คือคนทรงจะเป็นชายหรือหญิงก็ได้แล้วแต่ท่านเลือกเอา