คั่วโฮะ


คั่วโฮะ เป็นคำเรียกชื่ออาหารที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปของล้านนา คำว่า โฮะ หมายถึง รวมกัน ซึ่งต้องมีจำนวนหลายๆ อย่าง ดังนั้น คั่วโฮะ (บางท้องถิ่นอาจเรียกแกงโฮะ) จึงเป็นการนำอาหารหลายๆ อย่างมาคั่วรวมกันเพื่อให้ได้รสชาติใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม และยังเป็นรสที่อร่อยเข้มข้นขึ้นด้วย เนื่องจากการคั่วทำให้น้ำแกงงวด จึงมีรสเข้มข้น ในสมัยก่อน มักนำแกงที่เหลือจากการรับประทานหลายๆ อย่างไปหมักรวมกันในกระบอกไม้ไผ่ ปิดฝากระบอกให้สนิทแล้วนำไปฝังดินไว้สักระยะเวลาหนึ่ง (๒-๓ คืนหรือนานนับเดือนก็ได้) เพื่อให้แกงมีรสเปรี้ยว โดยมากมักประกอบด้วย แกงหน่อไม้ส้ม แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงฮังเล แกงจืดวุ้นเส้น ห่อนึ่ง ซึ่งแกงเหล่านี้อาจได้จากการจัดงานบุญ หรือการถวายทานของที่วัด ซึ่งมีอาหารจำนวนมาก จึงเกิดภูมิปัญญาในการเก็บรักษาอาหารและแปรรูปเป็นอาหารแบบใหม่

วิธีทำ

วิธีทำคั่วโฮะ นำแกงฮังเล (เป็นแกงที่ถือเป็นส่วนประกอบหลัก หากขาดไปจะทำให้คั่วโฮะไม่อร่อยเท่าที่ควร) (หน่อไม้ดอง) แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน ห่อนึ่ง แกงจืด ฯลฯ มารวมกันใส่ชามไว้ หรือ หมักรวมกันไว้ จากนั้นบุบกระเทียม เจียวกระเทียมพอหอม เทแกงที่รวมกันไว้ลงไปคั่ว อาจเติมผักต่างๆ ลงไป เช่น ยอดชะอม ผักตำลึง ถั่วฝักยาว หน่อไม้ดอง พริกขี้หนู และข้อสำคัญต้องซอยตะไคร้ลงไปคั่วด้วย ควรใส่จำนวนมากสักหน่อยเพื่อช่วยรักษาท้องอืดท้องเฟ้อจากกรดแก๊สในอาหาร เนื่องจากเป็นอาหารที่หมัก หรือ เศษอาหารที่เก็บไว้หลายวัน จากนั้นเติมวุ้นเส้น ผงฮังเล หรือ ผงกะหรี่เพื่อให้มีกลิ่นหอม และกลายเป็นอาหารจานใหม่ที่ชวนรับประทาน คั่วจนน้ำแกงงวดแห้งแล้วตักใส่จานรับประทานกับผักสดต่างๆ เช่น ยอดขนุน หรือ ขนุนอ่อน เพื่อช่วยแก้อาการท้องร่วงที่อาจเกิดขึ้นหลังรับประทานได้ด้วย แต่โดยมากแล้ว คั่วโฮะจะใช้เวลาคั่วนานกว่าอาหารทั่วไปเพราะต้องคั่วให้น้ำแกงงวด และใช้ความร้อนสูงจึงเป็นอาหารที่ปลอดภัย แต่คนล้านนาสมัยก่อนก็มีภูมิปัญญาที่ชาญฉลาด หาทางป้องกันแก้ไขไว้แล้วจากเครื่องปรุงและเครื่องเคียง