จำนวน 9 รายการ

ตำจิ๊นแห้ง

หมวดตำ
จิ๊นแห้ง คือ เนื้อวัวหรือเนื้อควายตากแห้ง เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำเอาส่วนผสมที่เป็นของที่สุกแล้วลงไปผสมกับเครื่องปรุง จะใช้พริกแกงธรรมดา หรือเครื่องปรุงสำหรับลาบ มาใช้เป็นเครื่องปรุงก็ได้ ส่วนผสมคือ จิ๊นแห้ง ใบมะกรูด ต้นหอม ผักชี ผักชีฝรั่ง น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกงมีพริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ เกลือ ข่า ตะไคร้

ตำบ่าตื๋น (ตำกระท้อน)

หมวดตำ
ตำบ่าตื๋น เป็นคำเรียกอาหารล้านนาที่หมายถึง ตำกระท้อน โดยใช้กระท้อนที่มีรสเปรี้ยว นำมาทุบให้นุ่ม ปอกเปลือกแล้วผ่าเป็นชิ้นๆ เครื่องปรุงใช้พริกแห้งสด กระเทียม ปลาร้า น้ำปู เกลือ หรือน้ำปลา วิธีทำคือ โขลกพริกแห้งกับกระเทียม ปลาร้า ใส่กระท้อนลงไป โขลกพอให้เข้ากัน ใส่น้ำปู หากเป็นสูตรดั้งเดิมของล้านนาแท้ๆ จะไม่ชอบหวาน แต่ปัจจุบันนิยมใส่น้ำตาลปี๊บเพื่อให้รสออกหวาน เมื่อตำคลุกเคล้าเข้ากันดี ตักใส่จาน รับประทานแนมกับผักสด เช่น ตูน ใบชะพลู ฯลฯ

ตำบ่าถั่ว

หมวดตำ
ตำบ่าถั่ว เป็นคำเรียกชื่ออาหารประเภทตำอีกอย่างหนึ่ง โดยนำถั่วฝักยาวสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และนำไปโขลก มีเครื่องปรุงคือ พริกสดเผา กระเทียมเผา หอมแดงเผา กะปิหรือปลาร้าห่อใบตองหมกไฟจนมีกลิ่นหอม ตำบ่าถั่วอาจใส่แคบหมู หรือปลาแห้งย่างสุกก็ได้ โดยแกะเอาแต่เนื้อปลามาโขลกรวมกับเครื่องปรุง หากใส่แคบหมูก็โขลกรวมกับเครื่องปรุงจนละเอียด แล้วนำถั่วฝักยาวที่หั่นเตรียมไว้มาโขลกรวมกับเครื่องปรุงและแคบหมูหรือปลาแห้ง โขลกพอแหลกเข้ากันดี เติมน้ำปลาเล็กน้อย ตักใส่จาน หากชอบความกรอบและเปรี้ยวเล็กน้อยให้บีบมะนาวลงไป แต่บางคนไม่ชอบรสเปรี้ยวก็ไม่บีบมะนาวก็ได้ รับประทานแนมกับผักสด เช่น ยอดกระถิน ผักกาดอ่อน ฯลฯ

ตำบ่าม่วง

หมวดตำ
ตำบ่าม่วง เป็นคำเรียกชื่ออาหารที่ใช้มะม่วงสดมาตำคล้ายตำถั่ว แต่มีเครื่องปรุงแตกต่างกัน วิธีทำ คือ ปอกมะม่วงดิบ ล้างให้สะอาด นำมะม่วงมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ มะม่วงที่ใช้ควรเป็นมะม่วงเปรี้ยวจะให้รสชาติดีเมื่อตำเสร็จ หากเป็นมะม่วงมันจะออกหวานไม่อร่อย จากนั้นนำมะม่วงที่สับมาโขลกพอแหลกแล้วคั้นน้ำที่มีรสเปรี้ยวออกประมาณหนึ่งหรือสองครั้ง แล้วแต่มะม่วงเปรี้ยวจัดหรือเปรี้ยวกลางๆ หากเปรี้ยวจัดให้คั้นน้ำออกจนมีรสเปรี้ยวน้อยลง นำพริกแห้งไปย่างไฟ ปริมาณตามชอบ รสจัดหรือรสกลางๆ เผากะปิ หากใส่ปลาแห้ง ให้ย่างปลาจนสุกกรอบ ปลาแห้งมักใช้ปลาตัวเล็กที่กรอบ รับประทานได้ทั้งตัวไม่ต้องแกะก้างออก ถือเป็นการเพิ่มแคลเซียมได้ดี จากนั้นนำพริกมาโขลกกับกระเทียมสด กะปิ เกลือ ใส่ปลาแห้งลงไปโขลก หรืออาจใช้แคบหมูแทนก็ได้ โขลกจนละเอียดดีแล้ว นำมะม่วงที่คั้นน้ำแล้วมาโขลกเบาๆ พอเข้ากับพริกเครื่องปรุง ปรุงรสด้วยน้ำปลาตามชอบ แต่อย่าให้เค็มจัด ตักใส่จาน โรยด้วยหอมแดงซอย รับประทานแนมกับผักสด เช่น ยอดชะอม ใบชะพลู หรือ ผักลวก เช่น ยอดมันสำปะหลังลวก ยอดขี้เหล็กลวก เป็นต้น (สูตรเดียวกันนี้ใช้ตำมะปรางได้ด้วย)

ตำมะเขือ

หมวดตำ
ตำมะเขือ หรือ ตำบ่าเขือ อ่านว่า ต๋ำบ่าเขือ เป็นตำรับอาหาร ที่มีวิธีการปรุง ที่เรียกว่า ตำ คือการนำเอาส่วนผสม คือมะเขือย่างไฟ แกะเปลือกออก แล้วนำมาโขลกรวมกันเครื่องปรุง รับประทานกับไข่ต้มและใบสะระแหน่ ใบแมงลัก ส่วนผสมคือ มะเขือยาว ไข่ไก่หรือไข่เป็ด สะระแหน่ ใบแมงลัก ต้นหอม พริกชี้ฟ้า กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า ต้นหอม ผักชี

ตำส้ม (บ่าก้วยเต้ด/ มะละกอ)

หมวดตำ
ตำส้ม เป็นคำเรียกชื่ออาหารล้านนาที่หมายถึง ส้มตำ นั่นเอง โดยใช้มะละกอเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งภาษาล้านนาเรียกว่า “บ่าก้วยเต้ด” วิธีทำส้มตำสูตรดั้งเดิมของล้านนาแท้ๆ จะใช้พริกขี้หนูสวนสดๆ โขลกกับกระเทียม ปลาร้าสด บางแห่งใส่น้ำปู ใส่มะขามอ่อน แต่ไม่ใส่มะเขือเทศ กุ้งแห้ง และน้ำตาลปี๊บ การปรุงรส มักใช้มะนาว มะขามเปียก หรือ บางสูตรที่ชอบรสเปรี้ยวแหลมมักใช้มะกรูดปอกเปลือกแล้วผ่าเป็นชิ้นๆ ลงโขลกในเครื่องปรุง ซึ่งสูตรนี้ต้องใส่น้ำปูเพื่อให้รสชาติอร่อยเข้ากัน (สูตรของจังหวัดลำปาง) ตำส้มของล้านนามักเน้นรสจัด คือ เผ็ด เค็ม เปรี้ยว และมักรับประทานเป็นกับข้าวในมื้อกลางวันหรือช่วงบ่าย ในยามแดดร้อนจัดๆ เป็นวิธีการเพิ่มวิตามินซี แคลเซียม และทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเปร่า

ตำหางหวาย

หมวดตำ
ตำหางหวาย เป็นอาหารประจำถิ่นอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยนำหางหวายไปเผาไฟพอสุก นำพริกหนุ่ม กระเทียม หอมแดง กะปิ มาเผาไฟ แกะเปลือกแล้วนำไปโขลกให้ละเอียด นำหางหวายเผาไปโขลกกับเครื่องปรุงให้เข้ากัน

ตำไข่มดแดง

หมวดตำ
ตำไข่มดแดง คือ อาหารอีกชนิดหนึ่งที่มีรสชาติอร่อย การตำไข่มดแดงไม่ได้หมายถึงเอาไข่มดแดงมาโขลกลงในครกให้ละเอียด เพราะจะทำให้สูญเสียความมีคุณค่าและความอร่อยไป วิธีทำ คือ นำไข่มดแดงมาล้างน้ำเบาๆ กรองใส่กระชอนพักไว้ นำหยวกกล้วยอ่อนมาแกะเอาส่วนแกนในประมาณครึ่งกำมือ หากใส่มากจะทำให้มีรสฝาด จากนั้นย่างพริกแห้งให้สุก เผาหอมแดง กระเทียม กะปิเล็กน้อย เกลือ นำมาโขลกรวมกันให้ละเอียด ใส่หยวกอ่อนที่ล้างสะอาดและสับเตรียมไว้ลงโขลกให้เข้ากัน แล้วตักเครื่องปรุงขึ้นมายำคลุกเคล้ากับไข่มดแดง โรยด้วยต้นหอม ผักชีซอย รับประทานได้ (ในท้องถิ่นอื่นอาจเรียกว่า ยำไข่มดแดง)

หมาก-ลางต๋ำ (ตำขนุน)

หมวดตำ
มีส่วนประกอบหลัก คือ ขนุนดิบ ข่า หอมแดง กระเทียม กะปิ พริกแห้ง ต้นหอม ผักชี เกลือป่น น้ำมันพืช