การเรียกชื่ออาหารล้านนา


การเรียกชื่ออาหารของล้านนาจากข้อมูลรายการอาหารที่นำเสนอมา จะเห็นได้ว่ามีวิธีการเรียกชื่ออาหารอยู่ ๓ แบบ คือ

๑. เรียกตามกรรมวิธีการปรุงและวัตถุดิบหลัก การเรียกชื่ออาหารของล้านนาสามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่มีการเรียกตามกรรมวิธีการปรุงและวัตถุดิบหลัก ซึ่งเป็นวิธีสากลทั่วไปที่หลายๆ ท้องที่ใช้กัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ หมวดแกง ต้ม จอ อ่อม อุ๊ก อ็อก มอก (กรรมวิธีการปรุง + วัตถุดิบหลัก)

  • แกงผักหวาน (แกง + ผักหวาน)
  • แกงหน่อไม้ (แกง + หน่อไม้)
  • ต้มส้มไก่ (ต้มส้ม + ไก่)
  • จอผักกาด (จอ + ผักกาด)
  • อ่อมไก่ (แกงอ่อมไก่) (แกงอ่อม + ไก่)
  • อุ๊กไก่ (อุ๊ก + ไก่)
  • อ็อกปลา (อ็อก + ปลา)
  • มอกปู ฯลฯ (มอก + ปู)

หมวดตำ ยำ โสะ (กรรมวิธีการปรุง + วัตถุดิบหลัก)

  • ตำมะเขือ (ตำ + มะเขือ)
  • ตำมะม่วง (ตำ + มะม่วง)
  • ยำจิ๊นไก่ (ยำ + จิ๊นไก่)
  • โสะบ่าโอ (โสะ + บ่าโอ)

การเรียกชื่ออาหารดังกล่าว หากพิจารณาตามโครงสร้างทางภาษาจะเห็นว่าใช้กรรมวิธีการปรุงขึ้นต้น ตามด้วยชื่อของวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งถือว่าการเรียกชื่ออาหารเช่นนี้เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในทุกภูมิภาค ดังผลงานวิจัยของ ชนกพร อังศุวิริยะ ซึ่งวิเคราะห์โครงสร้างของคำเรียกชื่ออาหารในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จากการสัมภาษณ์คนสามกลุ่มอายุ ในคนสามกลุ่มชาติพันธุ์ พบว่าโครงสร้างของคำเรียกชื่อจำแนกเป็น ๔ กลุ่ม คือ ประเภทของอาหาร เช่น แกง ข้าว ก๋วยเตี๋ยว วิธีการประกอบอาหาร เช่น ต้ม ตุ๋น นึ่ง ผัด วัตถุดิบในการประกอบอาหาร เช่น ปลาหมึก กุ้ง เนื้อ ขาหมู ไข่ และลักษณะของอาหาร เช่น ฝอยทอง เปียกปูน ซึ่งในแต่ละกลุ่มยังใช้คำประกอบร่วมกับคำหลัก เช่น คำหลักประเภทของอาหารใช้ประกอบร่วมกับวิธีการประกอบอาหาร เป็น แกงคั่ว หรือ ประเภทของอาหารใช้กับส่วนประกอบอาหาร เช่น แกงไก่ จากงานวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า มีการเรียกชื่ออาหารในหลายลักษณะ แต่สิ่งที่คล้ายกันกับการเรียกชื่ออาหารล้านนา คือ การเรียกจากวิธีประกอบอาหารกับวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และการเรียกแบบนี้น่าจะเป็นวิธีเรียกที่เป็นสากลทั่วไป แตกต่างกันเฉพาะวิธีการประกอบอาหาร ซึ่งล้านนามีอยู่หลากหลายวิธี ดังที่ได้อธิบายไว้ในแต่ละหมวดแล้ว อาทิ แกง ต้ม จอ อ่อม อุ๊ก อ็อก มอก ลาบ หลู้ ส้า ตำ ยำ โสะ ปิ้ง นึ่ง จี่ คั่ว จ่าว จื๋น เจี๋ยว ป่าม หลาม แอ็บ ซึ่งถือเป็นวิธีการประกอบอาหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของล้านนา

๒. เรียกตามลักษณะพิเศษของวัตถุดิบหลัก (เรียกแบบปริศนา) วิธีการเรียกชื่ออาหารแบบที่นำเอาลักษณะพิเศษของวัตถุดิบหลักมาเป็นชื่ออาหารเป็นลักษณะของการเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นภาพของอาหารนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเปรียบเทียบกับสิ่งที่คล้ายคลึงและผู้คนรู้จักคุ้นเคย หรือเรียกตามลักษณะเฉพาะที่เด่นชัดของวัตถุดิบนั้น เช่น “รถด่วน” หมายถึง หนอนไม้ไผ่ที่มีลักษณะยาวเหมือนขบวนรถไฟ หรือ แมลงประเภทจิ้งหรีดชนิดหนึ่งที่มีขนาดตัวเล็ก แต่ชอบกระโดดตลอดเวลา จึงเรียกว่า “สะดิ้ง” หมายถึง ดีดดิ้นไปมา หรือ “ผักพ่อค้าตีเมีย” หมายถึง ผักที่มีความกรอบสุกยาก นอกจากนี้ยังมี คำเรียกอาหารอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายปริศนาคำทาย เช่น “น้องนางบ้านนา” หมายถึง เขียด ส่วน “เทพธิดาดอย” หมายถึง หน่อไม้ หรือ “ลูกชิ้นดอย” หมายถึง เห็ดถอบ หรือ เห็ดเผาะ หรือผูกปริศนาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก เพื่อให้คนตีความหมายเอาเอง เช่น “ส้าสูง” หมายถึง ส้ายอดมะม่วง เนื่องจากต้องใช้ไม้สอยลงมาจากกิ่งของมะม่วง ส่วน “ส้าต่ำ” หมายถึง ส้ามะเขือ เพราะมะเขือมีลำต้นทรงพุ่มต่ำ การเรียกชื่ออาหารเช่นนี้ อาจพบได้ในถิ่นอื่น ดังงานของอนันตตยา คอมิธิน ที่ได้ศึกษาการตั้งชื่ออาหารในภาษาไทยตามแนวอรรถศาสตร์ เช่น การวิเคราะห์กลวิธีการตั้งชื่ออาหาร พบว่ามีการตั้งชื่อแบบเปรียบเทียบ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ เปรียบเทียบสมบูรณ์ เช่น พระรามลงสรง และเปรียบเทียบบางส่วน เช่น ผัดโป๊ยเซียน เป็นต้น งานนี้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดหรือมุมมองความเป็นไทยในเรื่องอาหารการกิน และยังสะท้อนว่าภาษามีส่วนสำคัญยิ่งในการถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์แตกต่างกัน ทำให้สิ่งที่นำมาบริโภคมีความแตกต่างกันไปด้วย เช่นเดียวกับอาหารล้านนาที่มีการเรียกชื่อตามลักษณะพิเศษของอาหาร หรือเรียกแบบปริศนา สะท้อนถึงวิธีคิดเกี่ยวกับภาษาที่ลึกซึ้งและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีอารมณ์ขันแทรก ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเป็นแบบเรียบง่าย ไม่เคร่งเครียด สะท้อนความสุขในความเป็นพื้นบ้านท่ามกลางสภาพแวดล้อมแบบชนบทที่ไม่ซับซ้อน

๓. เรียกตามที่มาของเจ้าของตำรับ การเรียกชื่ออาหารของล้านนายังมีลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ เรียกตามที่มาของเจ้าของตำรับ หากอาหารชนิดนั้นๆ มิได้เป็นของชนพื้นถิ่นเดิม หรือ เป็นอาหารที่คุ้นเคยกันดีก็มักเรียกเพื่อให้ทราบถึงที่มาของตำรับอาหารด้วย อีกประการหนึ่งเป็นการบ่งบอกถึงสูตรหรือกรรมวิธีทำอาหารชนิดนั้นๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายว่ามีความแตกต่างไปจากสูตรอื่นๆ เช่น “ขนมเส้นน้ำเงี้ยว” หรือ “ข้าวส้มเงี้ยว” บ่งบอกว่าเป็นอาหารตำรับของชนชาติเงี้ยว หรือ ไทใหญ่มาแต่เดิม และยังทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่าจะต้องมีส่วนประกอบของถั่วเน่าแข็บ หรือ ต้องการให้ชัดเจนลงไป เช่น “น้ำเงี้ยวเชียงราย” ก็สามารถทำให้เข้าใจได้ว่ามีลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่อื่น คือ มีดอกงิ้วเป็นส่วนผสมหนึ่ง หรือ “น้ำพริกไต” ซึ่งหมายถึง น้ำพริกของชาวไทใหญ่ และมีส่วนประกอบคือ ถั่วเน่า นอกจากนี้ยังมี อาหารอื่นๆ ที่ระบุที่มาเจ้าของตำรับห้อยท้าย เช่น “ลาบแพร่” “ลาบลำปาง” “ลาบเชียงราย” อันมีความหมายว่าเป็นลาบที่มีสูตรการทำแตกต่างกันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การเรียกชื่อตามที่มาของเจ้าของตำรับนี้พบว่า มีไม่มากนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเรียกเพื่อต้องการบอกชื่อเสียงความอร่อยของอาหารชนิดนั้นๆ เป็นเสมือนตรายี่ห้อของตำรับอาหารเพื่อรับประกันความอร่อยมากกว่าอื่นใด