ขนมจ็อก


ขนมจ็อก เป็นคำเรียกชื่อขนมของล้านนาที่รู้จักกันทั่วไป ตรงกับชื่อภาษาไทยกลางว่า ขนมไส้เทียน หรือ ขนมนมสาว เป็นขนมที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว โดยมักทำในช่วงมีงานบุญสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ หรือปี๋ใหม่เมือง ที่จะต้องเตรียมอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด และไปทานขันข้าวแก่ญาติผู้ใหญ่ คนล้านนาสมัยก่อนจะเตรียมทำขนมจ็อกในวันดา หรือวันเตรียมงาน ซึ่งเป็นวันเนาว์ หรือ วันเน่า

วิธีทำ

วิธีทำขนมจ็อก คือ การนำข้าวเหนียวแช่น้ำไว้หนึ่งคืน จากนั้นนำไปตำในครกกระเดื่องให้แหลกละเอียดเป็นแป้ง แล้วเตรียมทำไส้ขนมจ็อก โดยปอกมะพร้าวที่แก่จัด ผ่าครึ่งแล้วขูดด้วยกระต่าย ซึ่งภาษาล้านนาเรียกว่า “แมวขูดมะพร้าว” จากนั้นนำมะพร้าวมาคลุกกับน้ำอ้อยหรือน้ำตาลทราย จะได้ไส้มะพร้าวที่หวานเหนียว ระหว่างนั้นเตรียมใบตองที่ตัดและตากแดดไว้พอให้ใบตองอ่อน นำมาตัดเจียนเป็นทรงกลมเท่าฝ่ามือสำหรับเตรียมไว้ห่อขนม นำแป้งมานวดกับน้ำเล็กน้อยพอปั้นเป็นก้อนได้ จากนั้นบิแป้งทีละน้อยปั้นเป็นก้อนกลมขนาดพอเหมาะ ใช้นิ้วหัวแม่มือกดตรงกลางก้อนแล้วทำให้แบน กดตรงกลางให้บุ๋มแล้วจับขอบแป้งทำเป็นรูปห่อ ตักไส้มพร้าวใส่แล้วจับขอบแป้งปิดไส้ให้มิดชิด ห่อด้วยใบตองที่ตัดเจียนไว้ พับเป็นรูปกรวยเล็กๆ ใส่ขนมแล้วห่อเป็นรูปสามเหลี่ยม พับเก็บปลายใบตองเข้าในจีบที่จับไว้ จะได้ขนมจ็อกเป็นรูปสามเหลี่ยม นำใส่ในไหแล้วนึ่งจนขนมสุก