จำนวน 31 รายการ

ขนมจีนน้ำแจ่ว

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
คำว่า ขนมจีน ใช้เรียกตามภาษาไทยกลาง หากเป็นภาษาล้านนา ใช้คำว่า “ขนมเส้น” เพราะเรียกตามลักษณะที่เป็นเส้นๆ ขนมจีนน้ำแจ่ว หรือ ขนมเส้นน้ำแจ่ว จัดเป็นเมนูยอดนิยมของชาวบ้านทั่วไปในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นขนมจีนที่แตกต่างจากขนมจีนทั่วไป มีลักษณะเป็นน้ำใส ส่วนประกอบน้ำแจ่ว ได้แก่ เครื่องในหมู ข่า ตะไคร้ หมูบด กระดูกหมู น้ำปลา หอมแดง ส่วนประกอบเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำปลา น้ำตาล พริกขี้หนูสด กระเทียม

ข้าวแรมฟืน

หมวดอาหารว่าง/ ของทานเล่น/ ขนม
ข้าวแรมฟืน เป็นอาหารของคนไทลื้อ และไทใหญ่ รับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งตัวข้าวแรมฟืนทำมาจากถั่วลิสง มาผสมกับข้าวแรมฟืนที่ทำมาจากการโม่ข้าวเจ้าแข็งทำแป้ง แล้วนำแป้งที่ตกตะกอนมาเคี่ยวกับปูนขาวจนสุก จากนั้นเทใส่ภาชนะ ทิ้งไว้ ๑ คืน วันรุ่งขึ้นแป้งจะแข็งตัว เมื่อได้แป้งข้าวแรมฟืนแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมผืนผ้าเล็กๆ เตรียมไว้ เครื่องปรุง ข้าวแรมฟืน ได้แก่ น้ำถั่วเน่า (ถั่วเหลืองหมัก) ได้จากการนำถั่วเหลืองที่โขลกละเอียด แล้วผสมน้ำต้มสุก น้ำขิง กระเทียมเจียวน้ำมัน ถั่วลิสงป่น เกลือป่น น้ำมะเขือเทศ งาขาวป่น ผงชูรส ซีอิ้วดำ น้ำมะเขือเทศ เป็นเหมือนกับน้ำซุปที่ใส่ลงไปในข้าวแรมฟืนที่หั่นเตรียมไว้

คั่วโฮะ

หมวดคั่ว
คั่วโฮะ เป็นคำเรียกชื่ออาหารที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปของล้านนา คำว่า โฮะ หมายถึง รวมกัน ซึ่งต้องมีจำนวนหลายๆ อย่าง ดังนั้น คั่วโฮะ (บางท้องถิ่นอาจเรียกแกงโฮะ) จึงเป็นการนำอาหารหลายๆ อย่างมาคั่วรวมกันเพื่อให้ได้รสชาติใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม และยังเป็นรสที่อร่อยเข้มข้นขึ้นด้วย เนื่องจากการคั่วทำให้น้ำแกงงวด จึงมีรสเข้มข้น ในสมัยก่อน มักนำแกงที่เหลือจากการรับประทานหลายๆ อย่างไปหมักรวมกันในกระบอกไม้ไผ่ ปิดฝากระบอกให้สนิทแล้วนำไปฝังดินไว้สักระยะเวลาหนึ่ง (๒-๓ คืนหรือนานนับเดือนก็ได้) เพื่อให้แกงมีรสเปรี้ยว โดยมากมักประกอบด้วย แกงหน่อไม้ส้ม แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงฮังเล แกงจืดวุ้นเส้น ห่อนึ่ง ซึ่งแกงเหล่านี้อาจได้จากการจัดงานบุญ หรือการถวายทานของที่วัด ซึ่งมีอาหารจำนวนมาก จึงเกิดภูมิปัญญาในการเก็บรักษาอาหารและแปรรูปเป็นอาหารแบบใหม่

จ่าวยำบ่าถั่วบ่าเขือ

หมวดจ่าว
ยำบ่าถั่วบ่าเขือ คือ ยำถั่วฝักยาว และมะเขือม่วงลูกเล็กที่ลวกสุกแล้ว นำมาหั่นเป็นท่อนเล็กๆ ประมาณ ๑ เซ็นติเมตร พักไว้ แล้วเผาพริกสด กระเทียม หอมแดง กะปิ โขลกรวมกัน ใส่เกลือเล็กน้อย ซอยข่าแก่ ใส่เล็กน้อย โขลกละเอียดแล้วนำถั่วฝักยาวกับมะเขือที่หั่นไว้มาโขลกพอเข้ากับพริกเครื่องยำ จากนั้นตั้งกระทะใส่น้ำมันหมู หรือน้ำมันพืช ทุบกระเทียมลงเจียวสัก ๔-๕ กลีบ นำเนื้อหมูสามชั้นซอยเป็นชิ้นเล็กๆ ลงผัดกับกระเทียมพอสุก นำยำบ่าถั่วบ่าเขือลงจ่าวหรือผัด คนพลิกไปมาอย่างเร็วๆ พอให้มีกลิ่นหอม แล้วยกลงตักรับประทานโดยโรยต้นหอมผักชี

ตำบ่าถั่ว

หมวดตำ
ตำบ่าถั่ว เป็นคำเรียกชื่ออาหารประเภทตำอีกอย่างหนึ่ง โดยนำถั่วฝักยาวสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และนำไปโขลก มีเครื่องปรุงคือ พริกสดเผา กระเทียมเผา หอมแดงเผา กะปิหรือปลาร้าห่อใบตองหมกไฟจนมีกลิ่นหอม ตำบ่าถั่วอาจใส่แคบหมู หรือปลาแห้งย่างสุกก็ได้ โดยแกะเอาแต่เนื้อปลามาโขลกรวมกับเครื่องปรุง หากใส่แคบหมูก็โขลกรวมกับเครื่องปรุงจนละเอียด แล้วนำถั่วฝักยาวที่หั่นเตรียมไว้มาโขลกรวมกับเครื่องปรุงและแคบหมูหรือปลาแห้ง โขลกพอแหลกเข้ากันดี เติมน้ำปลาเล็กน้อย ตักใส่จาน หากชอบความกรอบและเปรี้ยวเล็กน้อยให้บีบมะนาวลงไป แต่บางคนไม่ชอบรสเปรี้ยวก็ไม่บีบมะนาวก็ได้ รับประทานแนมกับผักสด เช่น ยอดกระถิน ผักกาดอ่อน ฯลฯ

น้ำพริกจิ๊นหมู

หมวดน้ำพริก
ส่วนผสม หมูบด พริกสด หอมแดง กระเทียม เกลือ ต้นหอม ผักชี เครื่องเคียง แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักกาดลวกหรือนึ่ง ฟักทองนึ่ง

น้ำพริกจี้กุ่ง หรือน้ำพริกจิกุ่ง

หมวดน้ำพริก
จี้กุ่ง หมายถึง จิ้งหรีด เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะค่อนข้างแห้งถึงข้น ชนิดของพริกที่นิยมใช้คือ พริกหนุ่ม หรือพริกดิบ จะใช้จี้กุ่งต้มหรือย่างไฟก็ได้ ส่วนผสม พริกหนุ่ม หอมแดง กระเทียม เกลือรับประทานกับเครื่องเคียง ผักกาดอ่อน (ทางเหนือเรียก ผักกาดหน้อย) ยอดกระถิน มะเขือเปราะ แตงกวา ถั่วฝักยาว

น้ำพริกตาแดง

หมวดน้ำพริก
อ่านว่า น้ำพิกต๋าแดง ความหมาย คือ เผ็ดจนร้องไห้ตาแดงนั่นเอง บ้างเรียก น้ำพริกแดงเพราะใช้พริกแห้งที่ทำให้สีของน้ำพริกแดงสด เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้นเหนียว มีส่วนผสมหลักคือ พริกแห้ง ปลาร้า ปลาแห้ง บางสูตรไม่นิยมใส่ปลาแห้ง หอมแดง กระเทียม และเกลือ รับประทานพร้อมเครื่องเคียงทั้งผักสด เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ หรือผักลวก ผักนึ่ง เช่น ผักกาด ฟักทอง กระเจี๊ยบ ถั่วพู ถั่วฝักยาว ฯ

น้ำพริกถั่วเน่าเมอะ

หมวดน้ำพริก
คำว่า เมอะ หมายถึง ข้นหรือเหนียวเหนอะหนะ บ้างเรียกว่า น้ำพริกถั่วเน่า เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้น มีส่วนผสมหลักคือ พริกขี้หนูสด และถั่วเน่าเมอะ (ถั่วเหลืองต้มเปื่อยหมัก แล้วนำมาโขลก ห่อใบตอง และย่างไฟ) ส่วนผสม ถั่วเน่าเมอะ พริกขี้หนูสด กระเทียม เกลือ รับประทานกับ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักสดอื่นตามชอบ

น้ำพริกถั่วเน่าแข็บ

หมวดน้ำพริก
คำว่า แข็บ หมายถึง ลักษณะเป็นแผ่นแห้ง หรือ กรอบ เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้นเหนียว มีส่วนผสมหลักคือ พริกแห้ง ถั่วเน่าแข็บ (ถั่วเหลืองต้มเปื่อย ตากแห้งเป็นแผ่น) กระเทียม เกลือ มะนาว เครื่องเคียง ได้แก่ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักกาด ผักสดอื่นตามชอบ

น้ำพริกปลาทู

หมวดน้ำพริก
ส่วนผสม ปลาทูสด หรือปลาทูนึ่ง พริกชี้ฟ้า หอมแดง กระเทียม กะปิ น้ำปลา น้ำตาล มะนาว

น้ำพริกหนุ่ม

หมวดน้ำพริก
คือน้ำพริกที่ใช้พริกสดที่ยังไม่แก่จัด เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะข้น เป็นอาหารพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันทั่วไป บางแห่งเรียกว่าน้ำพริกหอมจี่ (เผา) มีส่วนผสมคือ พริกหนุ่ม หอมแดง กระเทียม เกลือ ต้นหอม ผักชี เครื่องเคียงได้แก่ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน

น้ำพริกอ่อง

หมวดน้ำพริก
น้ำพริกอ่อง คำว่า อ่อง หมายถึง เคี่ยวไฟอ่อนจนงวด มีน้ำขลุกขลิก นับเป็นน้ำพริกพื้นบ้านล้านนาที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายพอๆ กับน้ำพริกหนุ่ม ลักษณะเด่นของน้ำพริกอ่อง คือมีสีส้มของมะเขือเทศและพริกแห้งที่เคี่ยวจนเป็นน้ำขลุกขลิก มีน้ำมันลอยหน้าเล็กน้อย มีสามรส คือ เปรี้ยว เค็ม เผ็ด เล็กน้อย และรสหวานตาม นิยมรับประทานกับผักสดหรือผักลวกก็ได้ บางสูตร ผัดหมูก่อนแล้วจึงตามด้วยเครื่องปรุงและมะเขือเทศภายหลัง บางสูตร โขลกเนื้อหมู เครื่องปรุงและมะเขือเทศให้เข้ากันก่อน จึงนำไปผัดกับน้ำมัน บางสูตรใส่ถั่วเน่าแข็บหรือใส่เต้าเจี้ยว ในการปรุงรส ส่วนผสมคือ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิ หมูบด มะเขือเทศลูกเล็ก ต้นหอม ผักชี น้ำมันสำหรับผัด รับประทานกับเครื่องเคียง เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ กะหล่ำปลีสด หรือผักลวก เช่น ผักกาดเขียว มะเขือม่วง ถั่วฝักยาว ถั่วพู เครื่องเคียงอื่น เช่น แคบหมู หนังปอง (หนังควายทอดจนพอง คล้ายแคบหมู)

น้ำพริกฮ้าหมก หรือน้ำพริกปลาร้า

หมวดน้ำพริก
คำว่า หมก หมายถึง เผาในขี้เถ้าร้อนๆ หรือถ่านไฟแดงๆ ส่วนผสมคือปลาร้า พริกสด หอมแดง กระเทียม มะเขือเทศลูกเล็ก เกลือ รับประทานกับเครื่องเคียง คือผักลวก หรือผักนึ่ง เช่น ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี ฟักทอง กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือม่วง ฯ

น้ำพริกเห็ดหล่ม

หมวดน้ำพริก
น้ำพริกเห็ดหล่ม คำว่า เห็ดหล่ม หมายถึง เห็ดพื้นบ้านถิ่นเหนือชนิดหนึ่ง มีลักษณะดอกหนา สีครีมเข้ม มีกลิ่นหอม เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะค่อนข้างแห้งถึงข้น ชนิดของพริกที่นิยมใช้คือ พริกสด จะเป็นพริกชี้ฟ้า หรือพริกพันธุ์ใดก็ได้ ถ้าชอบเผ็ด ให้ใช้พริกชี้ฟ้า ส่วนผสมอื่นคือหอมแดง กระเทียม กะปิ รับประทานกับ แตงกวา มะเขือเปราะ ผักลวกหรือผักนึ่ง เช่น ผักกาดเขียว ฟักแม้ว (มะเขือเครือ) ถั่วฝักยาว ฯ

น้ำพริกแคบหมู

หมวดน้ำพริก
ส่วนผสม แคบหมู พริกสด หอมแดง กระเทียม เกลือ ต้นหอม ผักชี เครื่องเคียง ได้แก่ แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักกาด ผักสดอื่นตามชอบ ย่างพริก หอมแดง กระเทียม แล้วแกะเปลือกออก นำมาโขลกรวมกันกับแคบหมูและเกลือ ตักใส่ถ้วยคนให้เข้ากัน โรยหน้าด้วยต้นหอมผักชีซอย ควรย่างพริก หอมแดง กระเทียมด้วยถ่านไม้ จะทำให้มีกลิ่นหอมและรสชาติดี อีกสูตรหนึ่ง ใช้พริกขี้หนูสดเก็บจากสวน ล้างสะอาดแล้วเด็ดขั้วออก โขลกกับกระเทียม เกลือ กะปิสด หรือ กะปิเผา ใส่แคบหมูกรอบๆ โขลกละเอียดแล้ว ตักใส่ถ้วย บีบมะนาวตามชอบ รสชาติคล้ายน้ำพริกกะปิแต่มีความเข้มข้นหอมมัน ส่วนน้ำพริกแคบหมู

น้ำพริกแมงดา

หมวดน้ำพริก
ส่วนผสม แมงดา พริกสด หอมแดง กระเทียม เกลือ ต้นหอม ผักชี เครื่องเคียง แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักกาด ผักสดอื่นตามชอบ

น้ำพริกแมงมัน

หมวดน้ำพริก
แมงมัน หมายถึง แมลงชนิดหนึ่งคล้ายมด ตัวนางพญามีลักษณะตัวใหญ่กว่าผึ้ง มีปีก ที่นิยมรับประทานคือพันธุ์ตัวเมีย มีสีแดงกล่ำ น้ำพริกแมงมัน เป็นน้ำพริกที่มีลักษณะค่อนข้างแห้งถึงข้น ชนิดของพริกที่นิยมใช้คือ พริกสด จะเป็นพริกชี้ฟ้า หรือพริกพันธุ์ใดก็ได้ ถ้าชอบเผ็ด ให้ใช้พริกชี้ฟ้า สำหรับส่วนผสมถ้าเปลี่ยนเป็นตัวต่ออ่อน แตนตัวอ่อน หรือผึ้งตัวอ่อน ก็ใช้สูตรการทำเหมือนกัน และเรียกชื่อน้ำพริกว่า น้ำพริกต่อ น้ำพริกแตน มีส่วนผสมคือ พริกชี้ฟ้า หอมแดง กระเทียม เกลือ รับประทานกับแตงกวา ถั่วฝักยาว ยอดกระถิน ผักสด หรือผักลวก เช่น ผักกาดเขียว ถั่วพู ฟักแม้ว (มะเขือเครือ)

น้ำพริกโจ๊ะ หรือน้ำพริกโย๊ะ

หมวดน้ำพริก
คำว่า โจ๊ะ สันนิษฐานว่ามาจากลักษณะของการใช้ไม้ตีพริกลงโขลกช้าๆ และเบา เมื่อใส่มะเขือเทศเผาแกะเปลือกลงไปรวมกับส่วนผสมอื่นๆ แล้ว การโขลกลักษณะนี้จะต้องระมัดระวังเพราะมะเขือเทศมีน้ำมาก และเรียกอาการโขลกแบบนี้ว่า “โจ๊ะ” ส่วนผสมของน้ำพริกโจ๊ะคล้ายน้ำพริกปลาร้า แต่เพิ่มหมูบด และมะเขือเทศลูกเล็ก ประกอบด้วยหมูบด ปลาร้า พริกสด หอมแดง กระเทียม มะเขือเทศลูกเล็ก เกลือ รับประทานกับเครื่องเคียง คือผักลวก หรือผักนึ่ง เช่น ผักกาดเขียว กะหล่ำปลี ฟักทอง กระเจี๊ยบ ถั่วฝักยาว ถั่วพู มะเขือม่วง ฯ

น้ำพริกไข่ต้ม

หมวดน้ำพริก
ส่วนผสม ไข่ต้ม พริกสด หอมแดง กระเทียม เกลือ ต้นหอม ผักชี เครื่องเคียง แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว กระถิน ผักกาด ผักสดอื่นตามชอบ

มอกปู

หมวดมอก
ซึ่งมีความหมายถึงอาหารที่มีความข้นเหลว คล้ายโจ๊ก หรือคล้ายแกงแคที่ใส่ข้าวคั่ว โดยมีส่วนประกอบหลักคือ ไข่ปู

ยำบ่าถั่วบ่าเขือ

หมวดยำ
ยำบ่าถั่วบ่าเขือ หรือยำถั่วฝักยาวกับมะเขือยาว หรือมะเขือม่วง ส่วนผสมคือ ถั่วฝักยาว มะเขือยาวหรือมะเขือม่วง หมูสับ กระเทียมเจียว ผักชี ต้นหอม น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า กะปิ ปลาร้าสับ

ยำสะนัด

หมวดยำ
ยำสะนัด เป็นการนำผักหลายๆ อย่าง ลวกหรือนึ่งมายำรวมกัน แล้วนำมาปรุงกับเครื่องปรุง เช่นเดียวกับยำถั่วฝักยาวและมะเขือยาว มีส่วนผสมคือ ถั่วฝักยาว มะเขือยาวหรือมะเขือม่วง ถั่วแปบ มะเขือพวง ผักบุ้ง หัวปลี บางสูตรใส่ผักชะอม กระถิน หมูสับ กระเทียมเจียว ผักชี ต้นหอม น้ำมันสำหรับผัด เครื่องแกงใช้พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม ข่า กะปิ ปลาร้าสับ

ลาบปลาน้ำโขง

หมวดลาบ
ลาบปลาน้ำโขง (ปลาหนัง) เป็นอาหารประจำถิ่นอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนประกอบได้แก่ ปลาบึก ข่า หอมแดง กระเทียม ผักไผ่ ต้นหอม ผักชี ส่วนน้ำพริกลาบ มีพริกแห้ง มะแขว่น เมล็ดผักชี เมล็ดยี่หร่า

แกงบ่าถั่วใส่เห็ดใส่ปลาแห้ง

หมวดแกง
แกงบ่าถั่วใส่เห็ด ใส่ปลาแห้ง เป็นแกงพื้นบ้านของทางภาคเหนือที่นิยมทำกันมาก เพราะเป็นผักที่หาง่ายตามพื้นบ้าน หรือแต่ละบ้านจะปลูกไว้กินเองตามบ้าน เครื่องปรุงประกอบด้วย ถั่วฝักยาว เห็ดหูหนู หรือเห็ดสด ปลาแห้ง ข่า นิยมใช้ปลาช่อน (ปลาหลิม) พริกขี้หนู หรือพริกชี้ฟ้า กระเทียม หอมแดง กะปิ ปลาร้า เกลือ

แกงผักกาดหน้อยใส่ถั่วฝักยาว/ ใส่ผักชีลาว

หมวดแกง
แกงผักกาดหน้อย หมายถึง ผักกาดอ่อนที่ใบขนาด ๒-๔ เซนติเมตร ใส่ถั่วฝักยาว ใส่ผักชีลาว หรือใส่ผักโขมแดงอ่อน ใส่ผักขี้หูดอย่างละนิดอย่างละหน่อยบางท้องถิ่นเรียกแกงชนิดนี้ว่า “แกงผักอะหยิอะเหยาะ” ซึ่งหมายถึง แกงผักหลากหลายชนิด (เฉพาะผักที่กล่าวมาอย่างละนิดอย่างละหน่อยนั่นเอง) แกงชนิดนี้อาจใส่ถั่วเน่า และปลาแห้ง หรือหัวปลาชะโดแห้งด้วยก็ได้

แกงผักพ่อค้าตีเมีย

หมวดแกง
ผักพ่อค้าตีเมียเป็นพืชป่าตระกูลเฟิร์นชนิดหนึ่ง เหตุที่เรียกว่า ผักพ่อค้าตีเมีย มีเรื่องเล่าว่า พ่อค้าให้เมียแกงผักชนิดนี้เพื่อเตรียมตัวออกไปค้าขาย แต่ผักชนิดนี้มีความกรอบมากต้องใช้เวลาแกงนาน ผักไม่สุกสักทีเป็นเหตุให้พ่อค้าโมโหเมียตัวเองที่ทำให้ออกไปค้าขายช้า จึงตีเมีย อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเพียงเรื่องเล่าเชิงคติชนพื้นบ้าน หากในความเป็นจริง การเล่าเรื่องสื่อถึงความพิเศษของผักชนิดนี้ว่ามีความกรุบกรอบจนทำให้รู้สึกว่าผักยังไม่สุกดี หรือสุกยากนั่นเอง

แกงผักหละ (ชะอม) ใส่เห็ดและบ่าถั่ว (ถั่วฝักยาว)

หมวดแกง
ยอดชะอมใช้ทำอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งใส่แกงหน่อไม้สด แกงแค เจียวกับไข่ และนำมาแกง โดยเฉพาะ แกงชะอมใส่เห็ดฟางและถั่วฝักยาว หรือใส่เห็ดหูหนูลงไปเล็กน้อยก็ยิ่งดี

แกงเห็ดลม

หมวดแกง
เห็ดลม หมายถึง เห็ดชนิดหนึ่งของล้านนา มีลักษณะดอกบางแต่เหนียว มีสีน้ำตาลเหมือนเปลือกไม้ มักรับประทานขณะยังอ่อนเพราะไม่เหนียวเกินไป นิยมแกงใส่ชะอม หรือถั่วฝักยาว และใบชะพลูลงไปด้วย บางที่ใส่ปลาแห้ง ทำให้น้ำแกงมีรสชาติกลมกล่อม สำหรับสูตรนี้ ใส่ข่าและตะไคร้เป็นเครื่องแกง เพิ่มกลิ่นหอมของแกงด้วย ส่วนผสมคือ เห็ดลมอ่อน ชะอมเด็ด ใบชะพลูหั่นหยาบ เครื่องแกงมี พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ข่าหั่น ตะไคร้หั่น กะปิ ปลาร้าต้มสุก เกลือ

แกงแค

หมวดแกง
แกงแคเป็นอาหารที่มีผักต่างๆ เป็นส่วนประกอบหลากหลายชนิด โดยเฉพาะผักที่ได้จากสวนครัวหรือริมรั้ว เช่น ผักตำลึง ผักชะอม ดอกแค ถั่วฝักยาว มะเขือขื่น มะเขือพวง พริกขี้หนู ใบพริก ผักเผ็ด ผักปราบ รวมทั้งเห็ดลมอ่อน ตูน ยอดมะพร้าวอ่อน โดยอาจมีเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแกง อาทิ เนื้อไก่ นก หมู ส่วนเครื่องแกงประกอบด้วย พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ข่า ตะไคร้ กะปิ หรือปลาร้า

โสะบ่าเฟือง (มะเฟือง)

หมวดโสะ
มะเฟืองที่นิยมนำมาโสะ คือ มะเฟืองที่มีรสเปรี้ยว อาจโสะใส่น้ำปูด้วยก็ได้ หรือใส่เฉพาะปลาร้าก็ได้แล้วแต่ชอบ